"พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์" ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 115.72 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าตลาด mai ระดมทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และขยายศูนย์กระจายสินค้าในอาเซียน ชูจุดเด่นด้านการเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สติกเกอร์ หรือฉลากกาวรายใหญ่ จำหน่ายทั้งในประเทศ และอีกกว่า 15 ประเทศทั่วโลก โดยฐานลูกค้าหลักอยู่ในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม
นางรัชดา เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ 2 บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงินบริษัท พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMC ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สติกเกอร์หรือฉลากกาวรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ PMC ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของบริษัทฯ เพื่อประกอบการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา
โดยแผนเสนอขายหุ้นของ PMC จะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 115,715,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในหมวดธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม (INDUS) โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท
สำหรับจุดเด่นของ PMC คือ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สติกเกอร์เปล่า (Sticker) หรือฉลากกาว (Self-Adhesive Label) รายใหญ่ของประเทศ บริษัทฯ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสติกเกอร์เปล่า ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ สติกเกอร์กระดาษ สติกเกอร์ฟิล์ม และสติกเกอร์ชนิดพิเศษอื่นๆ บริษัทฯ จำหน่ายสติกเกอร์ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงพิมพ์ฉลากสินค้า (Printer) และผู้ผลิตฉลากสินค้า (Converters) เป็นหลัก โดยลูกค้าจะนำสติกเกอร์เปล่าไปดำเนินการออกแบบ จัดพิมพ์ลวดลาย และตัดให้ได้รูปทรง เพื่อผลิตเป็นฉลากสินค้าให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ End Users ตามลำดับ
โดยบริษัทฯ จำหน่ายสติกเกอร์ให้ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ PMC Label Materials PTE.,Ltd. หรือ PMCS ในประเทศสิงคโปร์ และ PMC Label Materials (Malaysia) SDN. BHD. หรือ PMCM ในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าในประเทศประมาณ 60% และอีก 40% เป็นการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศกว่า 15 ประเทศทั่วโลก โดยมีฐานลูกค้าหลักในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถเพิ่มยอดขายสินค้าได้อย่างต่อเนื่องจาก 708 ล้านบาทในปี 2563 เป็น 834 ล้านบาทในปี 2564 และ 874 ล้านบาทในปี 2565 แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
นายเอก สุวัฒนพิมพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMC กล่าวว่า PMC เป็นบริษัทย่อยของบริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) (SELIC) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกาวอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ โดยบริษัทฯ ถือเป็นแกนหลัก (Flagship Company) ในกลุ่ม SELIC ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสติกเกอร์เปล่า ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับการผลิตฉลากสินค้าและฉลากบรรจุภัณฑ์ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดการใช้งานได้ในอีกหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น สติกเกอร์บาร์โค้ด (Barcode) สติกเกอร์ติดกระเป๋าเดินทาง (Luggage Tag) และฝาบิดบรรจุภัณฑ์ (Sealing Sticker) เป็นต้น ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก SELIC เกี่ยวกับเทคนิคการปรับสูตรผสมกาวซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งของสติกเกอร์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากลูกค้าในอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี
โรงงานผลิตสินค้าของบริษัทฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 13 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จังหวัดสมุทรสาคร มีกำลังการผลิตสติกเกอร์ 75 ล้านตารางเมตรต่อปี นอกจากนี้ เพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการลงทุนขยายกำลังการผลิตสติกเกอร์อีก 110 ล้านตารางเมตรต่อปี มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 190 ล้านบาท
ปัจจุบันสายการผลิตใหม่อยู่ระหว่างการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2567 เป็นต้นไป ภายหลังจากที่สายการผลิตใหม่ติดตั้งแล้วเสร็จ บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตสติกเกอร์รวมทั้งสิ้น 185 ล้านตารางเมตรต่อปี ซึ่งถือเป็นกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุด 3 ลำดับแรกของผู้ประกอบการในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายฉลากกาวในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
สำหรับวัตถุประสงค์ในการระดมทุนที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการขยายศูนย์กระจายสินค้าในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ลงทุนขยายกำลังการผลิตและชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อสินค้า และเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ