นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการรายงานตัวเลขหนี้สาธารณะ ล่าสุด ณ สิ้นเดือน มี.ค.66 ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ วันที่ 31 มี.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 61.30% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการบริหารนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด
ส่วนตัวเลขอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปี อยู่ที่ 30.91%, สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด อยู่ที่ 1.63% และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ อยู่ที่ 0.05%
"ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหา และดูแลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว รวมทั้งควบคุมสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวด้วย รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล ส่งผลให้สิ้นเดือนมี.ค.66 สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ปรับขึ้นเล็กน้อย และสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีหนี้ของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระครบกำหนดเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การแสดงตัวเลขดังกล่าว จึงเป็นสัดส่วนหนี้สาธารณะในช่วงเวลานี้เท่านั้น ยังไม่รวมสมมติฐานการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีแผนการปรับโครงสร้างหนี้ในอนาคตต่อไป" นายอนุชา ระบุุ
อย่างไรก็ดี ความสามารถในการชำระหนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณเพื่อชำระหนี้ และประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในระยะต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา การจัดเก็บรายได้มีจำนวนที่สูงกว่าเป้าหมาย และสถานะทางการเงินการคลังของไทย ยังมีความเข้มแข็ง
นายอนุชา กล่าวว่า มีข้อสังเกตจากฟิชท์ เรตติ้ง ที่วิเคราะห์สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในระยะสั้นได้ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายของประเทศ ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 67 และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการตามนโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ รวมถึงความสามารถและการรักษาเสถียรภาพของสัดส่วนหนี้ภาครัฐในอนาคต
อย่างไรก็ดี อันดับความน่าเชือถือของไทยในปัจจุบัน ยังได้รับปัจจัยหนุนจากสถานะการเงินแข็งแกร่ง นโยบายเศรษฐกิจมหภาคมีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวการบริโภคเอกชนฟื้นตัว และการท่องเที่ยวที่ยังเป็นปัจจัยบวก