“เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2566 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 2.4 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 53.8 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และสูงสุดในรอบ 38 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สำหรับรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.0 อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนเมษายน 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -7.0 และ -1.4 ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนเมษายน 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -8.4 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.1 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.2 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -1.4 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -30.0
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนเมษายน 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 12.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.4 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ยางพารา ข้าวโพด และหมวดปศุสัตว์ เป็นต้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนเมษายน 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 95.0 จากระดับ 97.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการชะลอตัวของการผลิตจากวันหยุดต่อเนื่องในช่วงวันสงกรานต์ และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว และต้นทุนค่าระวางเรือที่เริ่มคลี่คลายลง สำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนเมษายน 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.18 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 644.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 18.2 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน อินเดีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนเมษายน 2566 จำนวน 21.3 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 27.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 11.0
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.67 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.66 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.2 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.58 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 223.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ