xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์แนะรัฐบาลใหม่ คิดนโยบายรอบคอบ ไม่ปิดช่องจัดทำงบรายจ่ายฯ 2567 ใหม่ทั้งหมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาพัฒน์แนะรัฐบาลใหม่ ทำนโยบายคิดให้รอบคอบ แนะดูกระบวนการ “ปรับขึ้นราคาสินค้า” ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของประเทศ อาจมีผลกระทบลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ไม่วายห่วง! นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก “อีอีซี” มรดกรัฐบาลลุง แนะจัดทำงบฯ 67 เร่งหามาอัดฉีด ไม่ปิดช่อง จัดทำงบรายจ่ายฯ 67 ใหม่ทั้งหมด ยกตัวอย่าง “งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 2 แสนล้าน”

วันนี้ (15 พ.ค.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ออกมาพูดถึงประเด็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า มีการจัดทำไว้หมดแล้ว ถ้ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการ ก็ทำได้ 2 แนวทาง คือ

1. การปรับเล็ก คือ ปรับรายละเอียดไส้ในของงบประมาณ และ 2. ทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องมาดูประมาณการรายได้ การขยายตัวเศรษฐกิจ ประมาณการรายจ่าย แต่ก็คาดว่าจะไม่แตกต่างจากที่เคยทำไว้เดิม

“การทำงบประมาณ มีข้อจำกัดหลายเรื่อง แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ว่าจะเลือกทางไหน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับนโยบายที่ได้ประกาศไว้ อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาวินัยการเงินการคลังของประเทศควบคู่ไปด้วย”

สภาพัฒน์ ยังประเมินการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยหลังการเลือกตั้งวันนี้ (15 พ.ค.)

ในฟากของเศรษฐกิจ ว่า จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทั้งความรวดเร็วในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ และ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่

ภายหลังรายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2566 ปรากฏว่า ขยายตัวในช่วง 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยหนุน คือ ภาคการท่องเที่ยฟื้นตัว การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนยายตัวได้ดี

“แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง 1.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 - 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของ GDP”

ประเมินว่า ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย คือ

1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก

2. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย

3. ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร

4. เงื่อนไขและบรรยากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง”

ส่วนการทำนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาว่า ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจจากผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้มีการใช้มาตรการทั้งด้านการเงินและมาตรการด้านการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าว และพยุงเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้

ดังนั้น การใช้งบประมาณในการทำนโยบายต่างๆ ระยะต่อไปของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามานี้ ควรต้องคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด เพราะจะมีผลต่อการที่ต่างประเทศจะประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

“สภาพัฒน์ เห็นว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำนโยบาย เช่น การลงทุน การปรับขึ้นค่าแรงในส่วนนี้ ควรต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะหากเป็นการไปเพิ่มภาระต้นทุนให้กับภาคธุรกิจแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นที่ภาคธุรกิจจะต้องส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นดังกล่าวมายังผู้บริโภค ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของประเทศ นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติด้วย”

การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยเร่งรัดการส่งออกไปยังตลาดที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวดี และการสร้างตลาดใหม่ รวมทั้งประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 63-65 ให้เกิดการลงทุนจริง แก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา และสร้างความพร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง และส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น

การดูแลผลผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูการเพาะปลูก 2566/2567 ควบคู่ไปกับการการเตรียมพร้อมรองรับและแก้ไขปัญหาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ

การรักษาบรรยาการทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567

คาดว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในกรณี worst case จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2567

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งหางบประมาณมาอัดฉีด โดยเฉพาะการลงทุน เช่น งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณ จะต้องมีการเร่งในช่วงเดือน ก.ย. 66 นี้ ให้สามารถใช้ได้ในช่วงปลายปี ประมาณ 2 แสนล้านบาท

ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีปฏิทิน ก็คาดว่าจะมีงบลงทุนอีก 2 แสนล้านบาท ที่จะใช้ได้ในช่วงไตรมาส 1/2567.


กำลังโหลดความคิดเห็น