นายเคลวิน เทย์ เจ้าหน้าที่จากยูบีเอส โกลบอล เวลท์ แมเนจเมนต์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ "Squawk Box Asia" ของสถานีโทรทัศน์ช่องซีเอ็นบีซี โดยระบุว่า เขามีมุมมองเชิงบวกอย่างมากเกี่ยวกับประเทศไทย โดยได้แรงหนุนจากศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ แต่อุปสรรคทางการเมืองจะเป็นปัจจัยที่สามารถพลิกสถานการณ์ได้
อย่างไรก็ตาม นายเทย์ระบุด้วยว่า แม้ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการที่จีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย แต่ชาวจีนยังเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศค่อนข้างน้อย โดยอันดับแรกต้องรอให้ตัวเลขการจ้างงานของจีนเพิ่มสูงขึ้นเสียก่อน
นายเทย์ กล่าวว่า ไทยยังจำเป็นต้องทุ่มเม็ดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และดำเนินการก่อสร้างให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไทยวางแผนที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกผ่านท่าเรือและสนามบินใหม่ๆ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง
นายเทย์ เน้นย้ำว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนี้ก็เพราะปัญหาทางการเมือง ซึ่งไทยจำเป็นต้อง "แก้ไขให้ถูกต้อง" โดยผลการเลือกตั้งเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงรวมกันถึง 99% ในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. แต่การที่พรรคก้าวไกลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ได้นั้นต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา
นายเทย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งของไทยถือเป็น "ปัจจัยที่สามารถพลิกสถานการณ์"
แม้ดัชนี SET ของไทยจะปรับตัวขึ้นในช่วงแรกของการเปิดเผยผลการเลือกตั้งเบื้องต้น แต่จากนั้นก็ปรับตัวลดลงจนกระทั่งหักล้างการปรับขึ้นดังกล่าวทั้งหมด
ในความเป็นจริงแล้ว หุ้นไทยเป็นหุ้นที่ทรุดตัวลงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ แต่นายเทย์ ระบุว่า หุ้นไทยเป็นหุ้นที่เขาเลือกเป็นอันดับแรกในภูมิภาคดังกล่าว
ข้อมูลจากแฟ็กต์เซ็ต (FactSet) ระบุว่า ดัชนี SET ตลาดหุ้นไทยลดลง 9.22% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อเทียบกันแล้วตลาดหุ้นมาเลเซียลดลงประมาณ 4.5% และดัชนีหุ้นจาการ์ตาของอินโดนีเซียลดลง 2.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ นายเทย์กล่าวว่า ไทยต้องให้ความใส่ใจต่อประเด็นด้านแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอัตราส่วนการเจริญพันธุ์และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยนั้นเรียกได้ว่าย่ำแย่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แต่ไทยสามารถแก้ปัญหาด้วยการให้ชาวกัมพูชาและลาวเข้ามาทำงานในไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นด้านแรงงาน