xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นซึมลึกดัชนีดิ่งต่อ รอจัดตั้งรัฐบาล-ลุ้นผลประชุมเฟด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหุ้นหลังเลือกตั้งดิ่ง หวั่นนโยบาย “พรรคก้าวไกล ”บางด้าน สร้างความวิตกให้พรรคการเมืองที่จะเข้าร่วม ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ขณะโบรกเกอร์มองตลาดหุ้นผันผวนระยะสั้น คาดช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าแข็งแกร่ง จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เดินหน้าต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ แนะติดตามเฟด หากชะลอขึ้นดอกเบี้ย หนุนตลาด แนะผู้เก็งกำไร ระวังดัชนีลงต่ำกว่า 1,540 จุด

แม้การเลือกตั้งจบลง แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังสรุปได้ไม่ง่ายนัก เพราะนโยบายของพรรคก้าวไกลในบางด้าน อาจสร้างความหวั่นวิตกให้พรรคการเมืองที่จะเข้าร่วม กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเจรจาต่อรอง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน จนนำไปสู่การเทขายหุ้น เพราะหลังการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นเปิดการซื้อขายเช้าวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมาดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นในช่วงแรก ก่อนจะถูกเทขายส่งผลให้ดัชนีปิดที่ระดับ 1541.38 จุด ลดลง 19.97 จุด มูลค่าซื้อขาย 68,385.47 ล้านบาท

เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน พอร์ตโบรกเกอร์ พร้อมใจกันเทขายหุ้น แม้จะขายกลุ่มละไม่กี่ร้อยล้านบาทก็ตาม ขณะที่นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ซื้อกลุ่มเดียวมูลค่า1,403 ล้านบาท และหุ้นกลุ่มที่ตกเป็นเป้าถล่มขายคือหุ้นของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทั้งกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ กลุ่มอาหาร ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายพรรคก้าวไกล

ทั้งนี้แม้ว่าประชาชนจำนวนมาก อาจฉลองชัยชนะของพรรคก้าวไกล แต่ปฏิกิริยาตลาดหุ้นกลับสะท้อนในเชิงลบกับพรรคนี้ เพราะนักลงทุนกังวลว่าอาจเกิดความวุ่นวายทางการเมืองตามมา จึงลดความเสี่ยงโดยระบายหุ้นออก และเน้นขายหุ้นกลุ่มทุนขนาดใหญ่

และนั่นก็ทำให้ดัชนีฯหลุดแนวรับ 1,550 จุดอีกครั้ง และไม่อาจคาดหมายได้ว่า หุ้นได้ซึมซับรับข่าวร้ายหมดหรือไม่ หรือหากจะปรับตัวลงต่อ จนถอยหลังลงไปลึกเพียงใด จะลงลึกกว่าการปรับฐานรอบก่อนที่ลงไปแตะ1,507 จุดหรือไม่

ล่าสุดเมื่อ 16 พ.ค.66 ดัชนีลดลงต่อ โดยปิดที่ 1,539.84 จุด ลดลง 1.54 จุด หรือ 0.10 % เคลื่อนไหวในกรอบ 1,536.36- 1,545.74 จุด มูลค่าซื้อขาย 53,185.45 ล้านบาท แบ่งการซื้อขายตามกลุ่มดังนี้คือสถาบันขายสุทธิ 316.66 ล้านบาท, บัญชี บล.ขายสุทธิ 43.16 ล้านบาท,นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1,111.41 ล้านบาทและนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 1,471.23 ล้านบาท

ตลาดหุ้นผันผวนระยะสั้น

บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ บล.เมย์แบงก์ฯ แนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง ยังมีแนวโน้มแข็งแรงในระยะกลางและระยาว ถึงแม้อาจจะผันผวนได้ในระยะสั้นอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลซึ่งจะกลายเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ โดย บล.เมย์แบงก์ฯ คาดว่าทั้งสองพรรคจะให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางสังคมและการเมืองมากกว่า ส่วนในด้านเศรษฐกิจ อาจจะได้เห็นนโยบายที่ได้ผลอย่างรวดเร็ว เช่นการแจกเงินสดจำนวนมาก ตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามนโยบายหาเสียงของทั้งสองพรรค ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ฯ คาดว่าไม่น่าจะได้เห็นนโยบายเศรษฐกิจที่รุนแรง เช่น การยกเลิกการผูกขาด เป็นต้น

นายจักร เรืองสินภิญญา กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ฯ กล่าวว่า "คาดการณ์ว่าดัชนี SET ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้ายังคงแข็งแกร่งโดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง รวมถึงความความคาดหวังในมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ แม้ว่า บล.เมย์แบงก์ฯ คาดว่าตลาดจะผันผวนในระยะสั้น แต่เชื่อว่าแนวโน้มของประเทศไทยในระยะกลางยังคงแข็งแกร่ง ขณะราคาหุ้นปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ถือเป็นจังหวะเข้าซื้อหุ้นเมื่อมีจังหวะที่ตลาดย่อตัว โดยแนะนำหุ้นกลุ่มที่เน้นการบริโภค อาทิ CPALL รวมถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น COM7 และ HMPRO และการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวมากขึ้น อาทิ MINT และ ERW"

เชื่อดัชนีหุ้นดีดขึ้นได้อีก 2-3 เดือนข้างหน้า

บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ บล.กรุงศรี มองว่าแม้ผลการเลือกตั้งยังไม่ใช่ผลอย่างเป็นทางการ แต่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อ ไทยนำโด่งในการเลือกตั้งปี 66 โดยก้าวไกลได้ ส.ส. แบบแบ่งเขต 113 ที่นั่ง ขณะเพื่อไทยได้ 112 ที่นั่ง ทางด้าน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ก้าวไกลได้ 38 ที่นั่ง และ เพื่อไทยได้ 29 ที่นั่ง ประเด็นสำคัญยังคงอยู่ที่พรรคการเมืองต้องการ 376 ที่นั่งเพื่อลดทอนผลจากการร่วมพิจารณาของ วุฒิสภาในการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกฯ ดังนั้น การจับมือกันของ ทั้งสองพรรคจะขจัดอุปสรรคนี้ไปได้ แต่ ณ จุดนี้ สูตรอื่น ๆ ในการตั้งรัฐบาลก็เป็นไปได้เช่นกัน ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลผสม แต่สถานการณ์ในปัจจุบันน่าจะทำให้ตลาดขึ้นต่อได้ในอีกสองสามเดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาหุ้นในปัจจุบันไม่แพงที่ระดับ -1 S.D. ในขณะเดียวกัน

บล.กรุงศรีคาดว่า นโยบายส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจของทั้งก้าวไกล และเพื่อไทยน่าจะช่วยหนุนภาวะตลาด เป็นการคำนวณแบบอนุรักษ์นิยมว่าดัชนี SET อาจจะขยับขึ้นไปซื้อขายที่ระดับ -0.5 S.D. ซึ่งหมายความว่ายังมี upside อีกประมาณ 6% (1,660 จุด)

ทั้งนี้ ในระยะสั้น บล.กรุงศรี เชื่อว่าโมเมนตัมของตลาดหุ้นไทยจะเป็นบวก ซึ่ง จากข้อมูลในอดีต หุ้นใน SET ขยับขึ้นเขียวได้ทั้งกระดานในช่วงสองสัปดาห์หลังการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นอาจปรับตัวได้ทั้งขึ้นและลง ซึ่งเนื่องจากราคาหุ้นในตลาดก่อนการเลือกตั้งยังไม่แพง จึงน่าจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าตลาดน่าจะดีดตัวขึ้นได้แรงในช่วงต่อไปอย่างไรก็ตามนโยบายเศรษฐกิจจะเป็นตัวตัดสินตลาดหุ้นในระยะกลางถึงยาว ทั้งนี้ จากนโยบายที่มีการหาเสียงเอาไว้ของก้าวไกลและเพื่อไทย ขนาดของนโยบายคิดเป็น 3% ของ nominal GDP ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคโดยรวมอีก 0.4-0.5% จากประมาณการในกรณีฐานที่ 3.1% จากข้อมูลของ Krungsri Research แสดงให้เห็นว่าการบริโภคภาคเอกชนมักจะเร่งตัวขึ้นหลังการเลือกตั้ง ยกเว้นในช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องมีการดำเนินการตามนโยบายจริง คาดว่ากลุ่ม/หุ้นต่อไปนี้จะได้อานิสงส์คือ Commerce (CPALL, BJC, MAKRO), สื่อ (PLANB BEC WORK VGI MAJOR), นิคมอุตสาหกรรม (AMATA ROJNA WHA PIN) และ REITS/กองทุนอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนอย่าง - ก่อสร้าง

โดยหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางของเศรษฐกิจ และตลาดคือระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาถึง 90 วันก่อนที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่ทำงานได้ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในปีหน้า นั่นหมายความว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายรองรับประเด็นเหล่านี้เอาไว้ นอกจากนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางอยู่ ทั้งนี้ ช่วงหกเดือนที่ผ่านมา GDP ของไทยขยายตัวเพียง 1.85% เทียบปีก่อนต่ำกว่าการเลือกตั้งห้าครั้งที่ผ่านมาอย่างมาก ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 4%

จับตาการจัดตั้งรัฐบาล - ลุ้นผลเฟด

ฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) หรือ KGI  ประเมิน SET Index วันที่ 17 พ.ค.แกว่งลงต่อ หลังจากเมื่อวันก่อนนี้ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายน้อยลง แต่จิตวิทยาตลาดยังไม่ดีและดัชนีฯ ปิดลบเล็กน้อยตามคาด สำหรับระยะนี้ปัจจัยโดยรวมเป็นลบเล็กน้อย เพราะมีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้นของการบริโภคในสหรัฐฯ หลังยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% เทียบเดือนก่อน ต่ำกว่าที่ consensus คาดไว้ที่ 0.7% เทียบเดือนก่อน ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายสินค้าในกลุ่ม home improvement อย่าง Home Depot เตือนว่าแนวโน้มธุรกิจจะชะลอตัวในครึ่งหลังของปีนี้ และ ผู้ว่าการเฟดสาขา Cleveland นาง Loretta Mester แถลงมุมมองของเธอว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขณะนี้ยังไม่สูงเพียงพอ ซึ่งอาจทำให้ตลาดกลับมากังวลถึงแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะถัดไป ด้านปัจจัยภายในประเทศ ฝ่ายวิจัยฯ ยังคงติดตามการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งพรรคก้าวไกลจะมีการประชุมกับพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีโอกาสตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพื่อลงรายละเอียดเพิ่มเติม ขณะที่การรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งภาพรวมกำไรฟื้นตัวแรงเทียบไตรมาสก่อน

บล.ยูโอบี เคย์เฮียน มองพรรคการเมืองให้ติดตามความคืบหน้าการพูดคุยพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเย็นวันที่ 17 พ.ค. นี้เพราะแรงกดดันการเมืองระยะสั้น เสียงสนับสนุนที่เพิ่มเข้ามา อาจทำให้ตลาดเริ่มตอบรับเชิงบวก ทั้งนี้ บล.ยูโอบีฯ มองแรงกดดันเชิงลบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อธุรกิจและกลุ่มทุนต่างๆ ในระยะสั้นจะเริ่มจำกัด และตลาดเริ่มให้ความสนใจกับโอกาสการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อสร้างความชัดเจนทางการเมือง ปัจจัยติดตามที่สำคัญคือพรรคก้าวไกลประสานไปยังพรรคการเมืองที่ร่วมงานกันในฝ่ายค้าน คือ พรรคเพื่อไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ และไทยสร้างไทย เพื่อพูดคุยการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเสียงรวมกันของ 5 พรรค อยู่ที่ 309 เสียง ต้องการอีก 67 เสียงเพื่อให้เกิน 376 เสียง

ขณะปัจจัยภายนอก คือเพดานหนี้สหรัฐและความเห็นกรรมการเฟด ที่ปัญหาของสหรัฐยังไม่มีข้อสรุป แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีมุมมองเชิงบวกว่าการเจรจาหารือน่าจะได้ข้อยุติในเวลาไม่นาน แต่ฝั่งประธานสภาผู้แทนราษฏร เตือนความเห็นของทั้งสองฝ่ายยังมีความแตกต่างกันมาก ซึ่ง บล.ยูโอบีฯ เชื่อว่าประเด็นสำคัญที่สุดคือเรื่องการปรับลดค่าใช้จ่าย ที่จะกระทบต่อมุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ขณะที่ความเห็นของกรรมการเฟด หลายท่านยังกังวลเงินเฟ้อ และไม่ปิดโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ย บล.ยูโอบีฯ มองความเป็นไปได้นี้จะเป็นปัจจัยรบกวนตลาด จนกว่าจะเห็นการยืนยันมุมมองดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐผ่านจุดสูงสุด หรือเห็นการคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไปคือ 14 มิ.ย. นี้

ขณะภาพรวมผันผวนในกรอบ ระหว่างรอความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาล เน้น selective buy กลุ่มที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวได้ชัดจนในปี 2566 และยังมีการถือครองที่ต่ำ (Underowned) อย่างไรก็ตามในทางกลยุทธ์สำหรับผู้เก็งกำไรระยะสั้น อาจต้องระวังการปรับลดลงต่ำกว่า 1,540 จุด จะทำให้มีความเสี่ยงทางลงในระดับต่ำกว่า 1,520 จุด

ตลาดหุ้นซึม รอการเมืองชัดเจน

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวลดลง มองว่ามาจากนักลงทุนอยากทราบผลการประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างเป็นทางการ เพราะขั้นตอนดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาข้อร้องเรียนต่าง ๆ ต้องใช้เวลาพิจารณา 60 วัน หรือทราบผลช่วงกลางเดือนก.ค. 66 ซึ่งหากเสียงเปลี่ยนผลการจับขั้วการเมืองอาจเปลี่ยน แปลงอีกได้ จึงเป็นปัจจัยต้องติดตาม

ขณะที่รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องรอคะแนนเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันก้าวไกลมีคะแนนเสียง 308 คะแนน ซึ่งต้องรอคะแนนจาก ส.ว.ให้เกิน 376 คะแนน และประเด็นสุดท้ายนักลงทุนอาจกังวลแนวทางของพรรคก้าวไกลที่เน้นแนวทางการปฏิรูปมากกว่าการดำเนินเศรษฐกิจ และมองว่าแนวทางที่คะแนนพรรคก้าวไกลนำอย่างโดดเด่นอาจผิดไปจากที่ตลาดคาด และต้องประเมินต่อคือการจับขั้วรัฐบาล เพราะ 2 สัปดาห์นี้ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งรอผลอย่างเป็นทางการจาก กกต. และต้องติดตามแกนนำทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามา

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 เดือนข้างหน้านี้ อาจมีประเด็นแนวทางนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะส่งผลบวกให้ตลาดหุ้นไทย หากแนวทางเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย แต่ส่งผลบวกในระยะสั้น โดยตลาดยังให้ความสำคัญกับการจัดตั้งรัฐบาลในประเทศมากกว่า

เชื่อ SET มีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่อง

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรินีตี้ จำกัด ระบุว่า สัปดาห์แรกหลังเลือกตั้งดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้น 3.2% และมีโอกาสขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงจากสถิติการเลือกตั้งไทยในอดีต ซึ่งกลุ่มที่โดดเด่น ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มธุรกิจการแพทย์ และกลุ่มธนาคาร ซึ่งสถิติย้อนกลับไปในปีที่พรรคการเลือกชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่ง หรือชนะแลนด์สไลด์ ดัชนีตลาดหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ปรับขึ้น 4.7% การตอบรับของตลาดมีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์-1 เดือน โดยดัชนีบวกสูงสุดที่ 8%

ขณะที่แนวโน้มของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในอดีตช่วงก่อนเลือกตั้งพบว่าส่วนใหญ่นักลงทุนต่างชาติมีทิศทางขายสุทธิ สวนทางนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิอย่างรุนแรง และหลังจากจบการเลือกตั้ง นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาซื้อสุทธิและกลายเป็นฝั่งกองทุนในประเทศที่มีอัตราการขายสุทธิ แต่ไม่รุนแรงเท่าช่วงก่อนเลือกตั้ง ซึ่งหากผลเลือกตั้งออกมาสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวหรือตั้งรัฐบาลร่วมได้อย่างแข็งแกร่ง จากสถิติการเลือกตั้งไทยในอดีต นักลงทุนต่างชาติมีแรงซื้อถึง 10,000-20,000 ล้านบาท ในทางกลับกันหากวุ่นวาย ไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล นักลงทุนต่างชาติเทขายในตัวเลขเดียวกัน

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ มีทิศทางในเชิงบวกหากผลคะแนนออกมาใน 3 กรณี คือกรณีที่พรรคฝ่ายเสรีนิยมอันดับ 1 พรรคเดียว ได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากกว่า 310 เสียง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ ส่วนกรณีที่พรรคอันดับ 1 ได้คะแนนเสียงมากกว่า 250 เสียง และจับมือกับพรรคอันดับ 2 ได้สำเร็จ โดยมีเสียงข้างมากรวมกันเกิน 375 เสียง ตัดปัญหาเรื่องคะแนนเสียงจาก ส.ว. และสุดท้ายรัฐบาลผสมระหว่างพรรคเสรีนิยม ที่ได้ที่นั่ง 200 เสียงหรือต่ำกว่า ไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงต้องข้ามฝั่งไปร่วมมือกับพรรคฝั่งอนุรักษนิยมเพื่อให้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งหากนอกเหนือกรณีนี้ นักลงทุนต่างชาติอาจตีความว่าการบริหารงานในอนาคตจะยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก ดัชนีอาจเผชิญแรงขายทางกำไรจนส่งผลต่อราคาหุ้น

นายณัฐชาต กล่าวต่อว่า จากสถิติการเลือกตั้งในอดีต พบว่า หลังการเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ มีโอกาสปรับตัวขึ้น 3.2% ไม่ว่าผลออกมาอย่างไร หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ การตอบรับของหุ้นไทยมีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่องนานถึง 3-6 เดือน หรือมากกว่าได้

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายแนะนำการลงทุนช่วงนี้คือให้ถือเงินสดไว้ก่อน เพราะจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาค่อนข้างหลากหลาย ส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวน รวมทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศ ทิศทางดอกเบี้ยเฟด และ การเจรจาเพดานหนี้สหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น