xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.21 แกว่งตัว Sideways มีโอกาสแข็งค่าขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 33.90-34.50 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.30 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (27มี.ค.) ที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เฟดจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อและอาจคงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25% แต่ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลง ท่ามกลางความกังวลปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคาร

ในสัปดาห์นี้เรามองว่าควรจับตาความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในอนาคต

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้หากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้น หรือในจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นทดสอบโซนแนวต้านแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอด้วยโฟลว์ซื้อสกุลเงินต่างประเทศของบรรดาผู้นำเข้าและบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น (Japanese MNCs) นอกจากนี้ สัญญาณเชิงเทคนิคัล ทั้ง RSI และ MACD ยังชี้ว่าเงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways ใกล้เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วันในช่วงนี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้หากอัตราเงินเฟ้อ PCE ออกมาสูงกว่าคาด และผู้เล่นในตลาดได้คลายกังวลปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคาร แต่หากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลดังกล่าว เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นได้ในกรณีที่ ความกังวลอยู่ที่ฝั่งธนาคารยุโรปมากกว่าฝั่งสหรัฐฯ (กดดันสกุลเงินฝั่งยุโรปอ่อนค่าลง) ทั้งนี้ ทองคำและเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ผู้เล่นในตลาดต้องการถือมากกว่าเงินดอลลาร์ได้หากตลาดปิดรับความเสี่ยง

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ - ไฮไลต์สำคัญ คือ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ PCE ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า โมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนกุมภาพันธ์อาจชะลอลงสู่ระดับ +0.4%m/m ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าพลังงานและราคาสินค้าโดยรวม ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงสู่ระดับ 5.1% อย่างไรก็ดี หากตัดผลของราคาพลังงานและราคาอาหาร โมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE จะอยู่ที่ +0.4%m/m ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ยังคงอยู่ที่ระดับ 4.7% สอดคล้องกับภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการที่ไม่รวมผลของที่อยู่อาศัย (Core Services Ex. Housing) ชะลอตัวลงช้า อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อ PCE และ Core PCE ไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้น กอปรกับภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อจากผลกระทบของปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคารจะช่วยลดความจำเป็นที่เฟดจะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนทะลุระดับ 5.25% แต่ทว่า เฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25% จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมาย 2% อย่างชัดเจน ซึ่งเรามองว่าภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นพร้อมกับการชะลอตัวลงมากขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะการจ้างงาน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หลังผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยและเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

▪ ฝั่งยุโรป - ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนี ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Ifo Business Climate) เดือนมีนาคม ซึ่งตลาดคาดว่าดัชนีอาจปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 91 จุด กดดันโดยแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงภาวะเงินเฟ้อสูง และล่าสุด ความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้ง 2 ธนาคารกลางว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะจุดสูงสุด (Terminal Rate) ณ ระดับใด

▪ ฝั่งเอเชีย - ตลาดจะรอจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน เช่น ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ว่าจะสามารถคงโมเมนตัมขยายตัวราว +13%y/y ได้หรือไม่ เช่นเดียวกันกับฝั่งญี่ปุ่น ตลาดมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยหนุนให้ยอดค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น +5.8%y/y ส่วนในฝั่งจีน ตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคบริการเดือนมีนาคม ที่ระดับ 50.5 จุด และ 54.3 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

▪ ฝั่งไทย - เราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติเป็นเอกฉันท์ “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 1.75% พร้อมกันนั้น กนง. อาจปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการบริโภคในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติดีขึ้นจากการประชุมเดือนธันวาคม ส่วนคาดการณ์ยอดการส่งออกอาจถูกปรับลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะสอดคล้องกับรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศในช่วงนี้ ที่ตลาดประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) เดือนกุมภาพันธ์ จะยังคงหดตัว -7%y/y สอดคล้องกับภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) จะขยายตัว +2%y/y ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความต้องการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลเกือบ -2 พันล้านดอลลาร์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น