ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดมุมมองทิศทางเศรษฐกิจ คงประมาณการจีดีพีปี 2566 ที่ 3.7% ขณะที่ปรับลดตัวเลขส่งออกลงจากเดิมที่ -0.5% มาที่ -1.2% ด้านการท่องเที่ยวขยับดีขึ้นตามสถานการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี ประเมินวิกฤตธนาคารชาติตะวันตกต่อไทยอยู่ในกรอบจำกัด
**วิกฤตแบงก์สหรัฐฯ ยืดเยื้อแต่ไม่ลุกลาม**
น ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลที่มี ณ ขณะนี้วิกฤตธนาคารขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ คงจะยืดเยื้อ เนื่องจากตราบใดที่ธนาคารที่ถูกจับตามองยังไม่ได้แก้ไขปัญหางบดุล เช่น การกระจุกตัวของเงินฝาก หรือการบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย จะยังทำให้ผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจ นอกจากนี้ การที่ทางการสหรัฐฯ มีเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้เงินภาษีของประชาชน ทำให้การตัดสินใจอาจใช้เวลา อีกทั้งธนาคารที่จะเข้ามาซื้อกิจการในธนาคารที่ประสบปัญหาคงใช้เวลาในการตัดสินใจเช่นกัน สุดท้ายแล้วธนาคารที่เป็นประเด็นอาจหลีกเลี่ยงการปิดตัวลงได้ยาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางชาติอื่นๆ เข้าดูแลสภาพคล่องของระบบอย่างรวดเร็วน่าจะช่วยยับยั้งสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกได้
ทั้งนี้ ปัญหาธนาคารสหรัฐฯ ที่เกิดครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตซับไพรม์ (Subprime) โดยวิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นกับธนาคารไซส์เล็กกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของงบดุลที่ไม่สมดุลของธนาคารนั้น และการผ่อนเกณฑ์ในบางจุด เช่น การทำ stress test ของธนาคารไซส์กลาง-เล็ก ขณะที่ช่วงวิกฤตซับไพรม์เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน และตราสารที่ไปพันกับสินเชื่อบ้าน ซึ่งในครั้งนั้นทำให้มีธนาคารปิดไปถึง 175 แห่ง อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาในครั้งนี้จะยังมีความยืดเยื้ออยู่ระดับหนึ่งเนื่องจากยังมีธนาคารที่ยังมีฐานะไม่แข็งแกร่งอยู่ เช่น สถานะการเงิน-เงินกองทุน รายได้สุทธิติดลบ โดยมีรายงานธนาคารที่มีรายได้สุทธิติดลบในกลุ่มไซส์กลางๆ ประมาณ 6% ดังนั้น จึงยังไม่จบ แต่จะไม่รุนแรงแบบซับไพรม์
ส่วนในระยะถัดไป ประเด็นติดตามอยู่ที่ทางการสหรัฐฯ จะปรับปรุงกฎหมายการกำกับดูแลภาคธนาคารสหรัฐฯ ให้เข้มงวดขึ้นสำหรับธนาคารขนาดกลางและเล็กหรือไม่ ซึ่งหากมีการดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติอาจทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น กระทบผลประกอบการธนาคารกลุ่มดังกล่าวในระยะกลาง
**ปรับส่งออกติดลบเพิ่ม-รับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอ**
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น คาดการณ์ว่าปัญหาภาคธนาคารจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม และมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งภาพความกังวลข้างต้นสะท้อนผ่านโมเมนตัมการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมครั้งล่าสุด (วันที่ 21-22 มีนาคม) ที่ผ่อนคันเร่งลงด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากช่วงก่อนเกิดปัญหาภาคธนาคารสหรัฐฯ ที่ตลาดมองว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.50% ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลงมากกว่าเดิมน่าจะมีผลกระทบต่อไทยผ่านช่องทางการค้า โดยเฉพาะภาคการส่งออก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยทยอยปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานที่ลดลงตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ลงมาที่ 2.8% จากเดิมที่ 3.2%
อย่างไรก็ตาม ไทยมีปัจจัยบวกที่ช่วยต้านผลกระทบข้างต้น คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่น่าจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2566 ที่อาจสูงกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 25.5 ล้านคน มาที่ 28.5 ล้านคน ทำให้ในภาพรวมแล้วจึงยังคงประมาณการจีดีพีสำหรับทั้งปี 2566 ไว้ที่ 3.7% ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังเต็มไปด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก จึงยังเป็นประเด็นที่ยังคงติดตามต่อไป
"ในรอบนี้เรายังคงประมาณการจีดีพีที่ 3.7% แต่ถ้าถามว่ามี down side หรือไม่ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยในต่างประเทศที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเสถียรภาพของธนาคารสหรัฐฯ-ยุโรป และปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มหดตัวเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสในช่วงไตรมาส 2 ถือเป็นการถดถอยทางเทคนิค แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นวิกฤต ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีทิศทางลดลงตามราคาพลังงาน และค่าไฟฟ้าที่ขึ้นน้อยกว่าโดยได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อมาที่ 2.8% จากเดิมที่ 3.2%"
**คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%**
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทนั้นคงจะเคลื่อนไหวผันผวนค่อนข้างมากต่อเนื่องไปในไตรมาส 2 ท่ามกลางสถานการณ์ต่างประเทศยังไม่นิ่ง เพียงแต่จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ชะลอความแรงลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะปรับขึ้นได้อีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคมนี้ และคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีนี้ที่ 1.75% ขณะที่คาดการณ์เงินบาทปลายปีนี้ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับผลกระทบของปัญหาธนาคารชาติตะวันตกต่อไทยอยู่ในกรอบจำกัด เพราะธนาคารไทยมีโครงสร้างงบดุลที่กระจายตัวดีกว่า เช่น มีพอร์ตสินเชื่อที่ใหญ่กว่าเงินลงทุน พอร์ตสินเชื่อมีการกระจายตัวตามกลุ่มลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี และรายใหญ่ รวมถึงมีเงินฝากที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงหรือลูกค้าธุรกิจองค์กร เหมือนดังกรณีธนาคารสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ ธนาคารไทยยังมีสภาพคล่องและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง แข่งขันได้ในระดับสากล ภายใต้การกำกับดูแลที่ใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังอีกด้วย