xs
xsm
sm
md
lg

ทีทีบีคาดจีดีพีโต 3.4% ท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนหนุน จับตาส่งออกหดตัวแรงฉุด ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ttb analytics มองเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 3.4% จากการเปิดประเทศของจีนช่วยหนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวเร็ว ประกอบกับการบริโภคในประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง ความเสี่ยงหลักในปีนี้เป็นการส่งออกสินค้าไทยมีโอกาสหดตัว และภาวะหนี้ครัวเรือนสูงโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ อย่างไรก็ดี ภาพรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb analytics)
เปิดเผยว่า ttb analytics คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัว 3.4% จากปีก่อนที่ 2.6% จากแรงขับเคลื่อนหลักใน 2 ด้าน คือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปีนี้เป็น 29.5 ล้านคน จากเดิม 22.5 ล้านคน และการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีที่ 3.9% จากปีก่อนที่ 6.3% ขณะที่การส่งออกยังชะลอลงอย่างต่อเนื่องคาดการณ์หดตัวลงที่ 0.5%

ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบีคาดการณ์ผลกระทบของภาคส่งออกต่อจีดีพี โดยจากการคาดการณ์การส่งออกปีนี้ที่ -0.5% จีดีพีโต 3.4% แต่หากกรณีการส่งออกหดตัวมากกว่านี้ -1% จีดีพีโต 3.1% และกรณีเลวร้ายการส่งออก -3% จีดีพีโต 1.9% ในทางกลับกัน หากภาคส่งออกได้รับแรงหนุนกลับมาเป็นบวก 0.5% จีดีพีโต 4.0% ส่งออกโต 1% จีดีพีโต 4.3%

"ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยด้วย 3 ขับเคลื่อนหลักๆ คือ การท่องเที่ยว การบริโภคเอกชน และการส่งออก ซึ่ง 2 ตัวแรกนั้นฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่การส่งออกมีสัดส่วนสูงถึง 65% ขณะที่การท่องเที่ยวมีสัดส่วน 12% และการบริโภคเอกชนมีสัดส่วน 55% ของจีดีพี ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือ การเติบโตที่ดีของการท่องเที่ยวจะสามารถชดเชยการส่งออกที่ลดลงได้หรือไม่ และหากการนำเข้าไม่ชะลอตัวลงตามอาจจะกระทบดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะกลับมาเป็นมาบวกอ่อนๆ ให้กลับไปลบอ่อนๆ ได้ อย่างไรก็ดี ภาพรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง"

**ยันวิกฤตแบงก์เชื่อมโยงไทยน้อยมาก**
"เรามองปัญหาแบงก์ล้มในสหรัฐฯ และยุโรปเป็นปัญหาเฉพาะแบงก์ ไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้างเหมือนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินไทยน้อยมาก ดังนั้น จึงเชื่อว่าเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ในอัตราที่ชะลอลง เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงชัดขึ้น"

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อีกทั้งไทยมีทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านฐานเงินฝากที่มีคุณภาพและสินทรัพย์สภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง ด้านเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CET1) อัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อ NPL (NPL Coverage ratio) อยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ในขณะที่สัดส่วน NPL ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งๆ ละ 0.25% ไปสู่ระดับ 2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยเริ่มเข้าสู่กรอบของ ธปท.ในครึ่งปีหลัง เช่นเดียวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นในการประชุมรอบนี้อีก 0.25% และอีกรอบในระดับเดียวกันสู่ระดับ 5.25-5.50% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้น ด้านค่าเงินบาทในปีนี้ยังมีความผันผวนตามสถานการณ์โลกโดยคาดการณ์สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 33.00-34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"ในช่วงที่ผ่านมา แบงก์ชาติของเราถือว่าดำเนินนโยบายได้อย่างเหมาะสมสะท้อนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หรือเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางของเรา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นโดยหลักๆ มาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และขณะนี้ลดลงแล้ว"

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ หนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง และสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเติบโตค่อนข้างเร็ว เมื่อทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกร และภาคธุรกิจขนาดเล็กที่ยังจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อพยุงระดับการบริโภคและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประกอบธุรกิจครัวเรือน อีกทั้งมาตรการดูแลลูกหนี้ทั้งในส่วนของประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังทยอยหมดลงนับแต่เดือนเมษายนจนถึงสิ้นปี 2566 นี้ อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ลูกหนี้ที่เปราะบางจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือต่อไป

ดังนั้น ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ คือ 1) การมองหาตลาดส่งออกสินค้าที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่องท่ามกลางโลกที่ท้าทาย เช่น กลุ่มตะวันออกกลาง อินเดียและกลุ่มอาเซียน 2) มาตรการบรรเทาค่าครองชีพแก่กลุ่มครัวเรือนและดูแลกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่เปราะบาง เช่น มาตรการลดค่าครองชีพในหมวดสินค้าจำเป็น มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟฟ้า มาตรการช่วยผ่อนคลายต้นทุนของธุรกิจ SMEs และ 3) มาตรการทางการเงินและสินเชื่อจากภาคสถาบันการเงินเพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเป็นรายกรณี เป็นต้น

ส่วนความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้งนั้น มองว่าไม่มีผลต่อจีดีพี เนื่องจากการลงทุนภาครัฐคิดเป็น 5% ของจีดีพีเท่านั้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคิดเป็น 15% ของจีดีพี ซึ่งทางธนาคารให้ความสำคัญกับการนำเข้า และส่งออกมากกว่าการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น