xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยดัชนี KR-ECI ปรับตัวดีขึ้น ครัวเรือนกังวลภาระหนี้เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน ก.พ.66 และดัชนี 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องที่ 36.6 และ 38.6 จาก 35.1 และ 37.8 ในเดือน ม.ค.66 โดยครัวเรือนยังคงความกังวลแต่มีระดับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าจากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าที่ชะลอลงสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อไทยเดือน ก.พ.66 อยู่ที่ระดับ 3.79%YoY เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารสดที่ลดลง เช่น เนื้อสัตว์ ผักสดและผลไม้ และราคาพลังงานที่ชะลอลงตามตลาดโลก นอกจากนี้ ในเดือน มี.ค.66 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับลดลงมาอยู่ที่ 34 บาทต่อลิตร หลังจากถูกตรึงให้อยู่ระดับ 35 บาทต่อลิตรมานาน 7 เดือน อีกทั้งภาครัฐยังคงให้การอุดหนุนราคาน้ำมันดังกล่าว เช่น การขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทออกไปถึงเดือน พ.ค.66

สำหรับภาคการท่องเที่ยวที่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและหนุนให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีเกี่ยวรายได้และการจ้างงานโดยอัตราการว่างงานเดือน ม.ค.66 อยู่ที่ 1.2%YoY ขณะที่สาขาที่มีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น เช่น การขายส่งและขายปลีก ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค.66 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านคนเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศสามารถขยายตัวได้แข็งแกร่ง โดยเดือน ม.ค.66 การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวไทยมีจำนวน 15.84 ล้านคน-ครั้ง (64.9%YoY) และสร้างรายได้กว่า 70,328.9 ล้านบาท (47.3%YoY)

อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาระหนี้ในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในประเทศจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยขณะนี้มีอัตราอยู่ที่ 1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินของครัวเรือนจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในปี 2566 อาจชะลอตัวลงมาที่กรอบ 84.0-86.5% แต่ภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงอาจเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของการบริโภคภาคครัวเรือนในอนาคต

ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าดัชนี KR-ECI มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากปัจจัยหนุนในเรื่องของการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหนุนการจ้างงานและรายได้ ประกอบกับมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจีนยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด และเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีโอกาสจะเผชิญภาวะถดถอยไม่รุนแรงหรือล่าช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ ซึ่งอาจลดผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะผ่านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงอีกหลายด้าน ทั้งค่าครองชีพที่ชะลอลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง และทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยคาดว่าปี 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับมาอยู่ที่ 1.75%-2.00% ซึ่งจะเข้ามากดดันกำลังซื้อของครัวเรือน
กำลังโหลดความคิดเห็น