นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวถึงกรณีการปิดธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ว่า ปัญหาของ SVB เกิดจากความน่าเชื่อถือ หรือคนไม่มั่นใจแห่ถอนเงินจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มาจาก partners ที่เป็น Private Equity, Venture Capital, Tech, Health tech ทำให้แบงก์ขาดกระแสเงินหมุนเวียนเจอปัญหาสภาพคล่องจนลามเป็นปัญหาล้มละลาย ซึ่งต่างจากวิกฤตนี้ไม่เหมือนปี 2551 ตอนเลห์แมนล้ม ตอนนั้นคือปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตจากการลงทุนในอนุพันธ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่วนปัจจุบันคือความเสี่ยงด้านตลาดหรือสภาพคล่องจากดอกเบี้ยขาขึ้น และขาดการบริหารที่ดีด้านระยะเวลาเงินฝากและสินเชื่อ
"เรามองว่าสถานการณ์โดยรวมไม่น่าลาม โดยธนาคารที่มีการถือตราสารที่ดียังสามารถเข้าถึงสภาพคล่องจากเฟดได้ แต่อาจมีแบงก์ที่มีปัญหาเพิ่มในกลุ่มที่ขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นแรงในสหรัฐฯ จนราคาพันธบัตรลดลงซึ่งหากถือจนครบอายุสัญญาจะไม่ขาดทุน ดังนั้น ต้องดูว่าใครร้อนเงินอีก หรือมีใครโดนแห่ถอนเงินจากวิกฤติศรัทธาบ้าง แต่หลักๆ คงจะเป็นธนาคารที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับกลุ่มเทคที่ลงทุนใน Crypto ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ"
ส่วนผลกระทบต่อไทยนั้นน่าจะเป็นผลในระยะสั้นผ่านตลาดเงินและตลาดทุนที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในสัปดาห์นี้ อาจมีแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงบ้างในระยะสั้น แต่ตลาดน่าให้น้ำหนักการชะลอตัวของค่าจ้างแรงงานและอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ รวมถึงรอตัวเลขที่สำคัญอื่นๆ เพื่อดูสัญญาณว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อแรงหรือไม่ ซึ่งกรณี SVB อาจมีน้ำหนักด้านเสถียรภาพตลาดการเงิน ทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เงินน่ากลับมาตลาดเกิดใหม่เงินบาทน่าขยับแบบ sideway 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ส่วนหาก SVB มีปัญหาลามต่อหรือมีความไม่แน่นอนต่ออาจกระทบภาคการส่งออกของไทยซึ่งไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยคงไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ไม่ได้อนุญาตให้ธนาคารลงทุนใน Crypto โดยตรง ขณะที่กลุ่มการเงินยังคงถูกกำกับอย่างเข้มงวดจาก Regulators ของไทย
โดยสรุป กรณีSVB น่าจะเป็นปัญหาเฉพาะกลุ่มจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่กระทบราคาพันธบัตรและมีผลให้กลุ่มเทคและกลุ่มStart up มีปัญหาขาดทุนต่อเนื่องจนกระทบธนาคารที่เชื่อมโยงกับกลุ่มนี้ รวมทั้งผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่นจนแห่ถอนเงิน และปัญหาเช่น SVB นี้ไม่น่าลามจนเกิดวิกฤตการเงินเหมือนในปี 2008 เพราะการเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงอื่นๆ มีน้อย และขนาดของธนาคารที่มีปัญหาไม่ได้ใหญ่จนมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐณ และเชื่อว่าเฟดมีความยืดหยุ่นพอที่จะดูแลปัญหาในลักษณะนี้ซึ่งจากสถานการณ์ล่าสุด ทางการสหรัฐฯ นำโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และองค์กรประกันเงินฝากในสหรัฐฯ (FDIC) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมรับประกันเงินฝากทั้งหมดของธนาคาร SVB โดยให้สามารถถอนเงินได้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.เป็นต้นไป รวมทั้งยังได้รับประกันเงินฝาก Signature Bank ด้วย โดยผู้ฝากเงินไม่ได้รับผลกระทบใดๆ นอกจากนี้ ยังได้ประกาศจัดหาเงินกองทุนพิเศษให้ FDIC เพื่อให้มีเพียงพอในการสร้างความมั่นใจให้ระบบธนาคารของสหรัฐฯ อีกด้วย ตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐฯ จึงปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นต่อมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว