xs
xsm
sm
md
lg

"ก้าวไกล" โชว์นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากฐานราก ให้เป็นเศรษฐกิจมหภาค ลดเหลื่อมล้ำ เกิดความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลชูนโยบายเศรษฐกิจไทยจากฐานราก รวมสร้างให้เป็นเศรษฐกิจมหภาค เน้นย้ำให้เกิดความยั่งยืน "Domestic Demand" ภายในประเทศที่มันจำเป็นต้องเข้มแข็งขึ้น รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มแรงงาน ปัญหาบริการของขนส่งสาธารณะ

วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ Ibusiness จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี “The NEXT Thailand’s Future : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ พร้อมระดมตัวแทนภาครัฐ เอกชน ฝ่ายการเมืองโชว์วิสัยทัศน์ ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน

คุณศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สำหรับโจทย์ที่ Ibusiness ชวนคุยในวันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าเราจะมีอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืนได้อย่างไร โจทย์ที่ Ibusiness ให้มาบอกว่า จะพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจมหภาคไปด้วยกันได้อย่างไร สำหรับดิฉันแล้ว 2 เรื่องนี้คือเรื่องเดียวกัน เราสามารถทำเรื่องฐานราก ให้เป็นมหภาคไปได้ในเวลาเดียวกัน ทุกวันนี้เราดูแต่เรื่อง GDP ดิฉันไปดูตัวรายได้ประชาชาติจาก National accounts แล้วพบว่า GDP โตขึ้น สะสมประมาณ 20% ในขณะที่บริษัทกำไรเพิ่มขึ้น 30% แต่รายได้ที่เฮาท์โฮกับตัวค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 3% ดังนั้นมันสะท้อนแล้วการพัฒนาที่ผ่านมาที่หวังแต่ว่า GDP จะโต มันไม่ได้ไหลรินลงมาที่คนข้างล่าง ซึ่งมันไม่สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน แน่นอนว่าเราอาจจะไม่ได้พูดถึงแต่ความเหลื่อมล้ำ แต่สิ่งเราอยากจะย้ำและเน้นให้เกิดความยั่งยืน คือ "Domestic Demand" หรือว่า Demand ภายในประเทศที่มันจำเป็นต้องเข้มแข็งขึ้น

"ก่อนหน้านี้ ในช่วงโควิดเราถอดบทเรียนกันอย่างเข้มข้น เราต้องพัฒนา Domestic Demand ความเข้มแข็งขึ้น แต่กาลเวลาผ่านไปเพียงแค่ไม่ถึง 2 ปีดี เราก็ลืมทุกอย่างหมดสิ้น พอมีการท่องเที่ยวมาก็ดีใจกับการท่องเที่ยว ไม่สนใจที่จะกลับมาเพิ่มความเข้มแข็งให้ดีมานด์ภายในประเทศอีกต่อไป ถ้าเรามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจฐานรากจะต้องโตไปด้วย ไม่ใช่ GDP จะโตอย่างเดียว ทำยังไงให้เกิดการโตอย่างเข้มแข็ง" รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว

"นโยบายที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเรื่องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เราเพิ่มเพียง 450 บาท แต่สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำในเรื่องนี้คือค่าแรงต้องเพิ่มขึ้นทุกปี ภาคธุรกิจไม่ต้องรอลุ้นว่าถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อไร ค่าแรงจะขึ้นเป็นเท่าไหร่ แรงงานไม่ต้องมานั่งรอลุ้น ไปเรียกร้องพรรคการเมืองไหนจะขึ้นค่าแรงให้เขา ทุกๆ ปีอยู่บนโต๊ะของคณะกรรมการไตรภาคีเป็นตัวเลือกให้เรียบร้อยว่า ปีนี้จะขึ้นเป็นเท่าไหร่ โดยจะดูจากค่าครองชีพ แล้วการเติบโตของ GDP อีกอย่างหนึ่งที่อยากเรียนเน้นย้ำในเรื่องของการรีสกิล เมื่อสักครู่ท่านเกรียงไกรพูดถึงเรื่องนี้ไปว่าเราจะต้องพัฒนาทักษะ ซึ่งทุกคนก็พูด ทุกพรรคก็พูด แต่ดิฉันจะบอกว่าจำเป็นแค่ไหน มันจำเป็นเพราะว่ากำลังแรงงานเรามี 40 ล้านคน 40% คือประมาณ 16 ล้านคน มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.ต้น แล้วใน 40% ของ 16 ล้านคนมีอายุเกิน 40 ปี แล้วเราจะพัฒนาคนอย่างนี้ได้ยังไง คนเหล่านี้จะพัฒนาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างไรถ้าไม่มีการเพิ่มพูนทักษะ จะรอแต่แรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเท่านั้นเหรอ เราจะไม่มีการพัฒนาทักษะของแรงงานที่มีอยู่ดั้งเดิมแล้วเหรอ ดังนั้น เรื่องนี้เราจำเป็นต้องมีการแจกคูปอง เพื่อให้แรงงานสามารถเพิ่มทักษะให้ตัวเองได้ เป็นคูปอง 5,000 บาทต่อคน"

"นโยบายต่อมาคือเรื่องนโยบาย SME ที่ทุกพรรคต้องมีแนวทาง ต้องเติมทุน สร้างแต้มต่อ ตัดค่าใช้จ่ายของ SME แต่สิ่งที่ดิฉันคิดว่าจำเป็นและต้องมีอย่างยิ่งคือเราจะต้องช่วย SME สู้กับทุนใหญ่ได้ ด้วยการพัฒนาแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม หลายๆ ครั้งที่ไปพูดคุยกับภาคธุรกิจ และหลายครั้งที่ต้องพูดเกี่ยวกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างรายใหญ่กับรายเล็กก็ดี หรือว่ารายใหญ่กับรายใหญ่เอง โดยในต่างประเทศจะบอกว่ามันเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เรามี พ.ร.บ.การค้าแล้วที่ต้องบังคับใช้ ทุกคนต้องอยู่ในระนาบเดียวกัน"

"นโยบายต่อมาที่เราคิดว่าจากแรงงานที่เมื่อกี้บอกไปแล้วว่า 40% มีวุฒิต่ำกว่า ม.ต้น แถมกำลังงานหดตัวลง 6% ใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น จำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมใหม่ และดิฉันคิดว่าอุสาหกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ด้วยการแปลงปัญหาเป็นดีมานด์ ไม่ว่าจะปัญหาบริการสาธารณะ เช่น น้ำประปาในกรุงเทพฯ ยังพบเจอน้ำใสสะอาด แต่ในต่างจังหวัดอาจเป็นหนึ่งในปัญหาที่ไม่มีภาคธุรกิจออกไปลงทุนหรือตั้งโรงงานในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ เพราะสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างน้ำประปาไม่สามารถทำให้ดีได้"

เรื่องของไฟฟ้า ค่าไฟเป็นปัญหาหลัก ซึ่งแน่นอนว่าเรามีนโยบายที่จะลดค่าไฟ โดยจะมีการเปลี่ยนลำดับความสำคัญของก๊าซธรรมชาติ จากเดิมส่งไปที่อุตสาหกรรมแล้วส่งให้โรงไฟฟ้า เราต้องกลับหัวกลับหาง เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนลำดับความสำคัญเรื่องนี้คำนวณคร่าวๆ ลดได้ทันที 70 สตางค์ เราเสนอให้เปิดเสรีการขายไฟ เรามี กฟผ.ที่เป็นคนเดียวที่จะซื้อไฟฟ้าทั้งหมด แล้วขายให้ กฟน. หรือ กฟภ. เราคิดว่าเริ่มเปิดเสรีได้ทันที ประมาณ 5-10% ก่อน รวมถึงเปิดเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ต่อด้วยเรื่องรถเมล์ ในกรุงเทพฯ ถือว่าดีสำหรับชาวกรุง แต่ในต่างจังหวัด ขนส่งสาธารณะที่ดีใช้ เราจะเปลี่ยนปัญหาตรงนี้ จะทำเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ

มาเรื่องสุดท้ายที่เราจะคุยกัน คือ ปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันของเหรียญ 2 ด้าน สิ่งที่ทำให้โลกร้อนอย่างหนึ่งคือ PM2.5 นโยบาย Green Economy โดยเรื่องของ Cap and Trade ซึ่งทุกวันนี้ภาคเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลทำ Cap and Trade สำหรับ Cap and Trade คืออะไร คือการกำหนดเพดานการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องตั้งเป้าลดลงทุกปี ผ่านตลาดคาร์บอน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี








กำลังโหลดความคิดเห็น