xs
xsm
sm
md
lg

"พิพัฒน์" ดันการท่องเที่ยววาระแห่งชาติ "พร้อมรับ-พัฒนา-พลิกโฉม" เดินหน้า GPD ให้ได้ 25%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งผลักดันการท่องเที่ยวแห่งชาติ เตรียมดันเข้า ครม. 14 มี.ค. "พร้อมรับ-พัฒนา-พลิกโฉมประเทศไทย"

วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ Ibusiness จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี “The NEXT Thailand’s Future : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ พร้อมระดมตัวแทนภาครัฐ เอกชน ฝ่ายการเมืองโชว์วิสัยทัศน์ ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายในงานสัมมนา The next thailand’s future จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน จัดโดย Ibusiness รวมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ว่า ก็เล็กๆ น้อยๆ นะครับ เพราะฟังมาสองท่านแล้วก็อาจจะเครียด ผมก็เลยปล่อยลูกเล่นเล็กน้อย แต่จริงๆ ก็เป็นการประหยัดเวลาในการที่จะพูด เพราะว่าสิ่งที่ผมฉายให้ดูบนจอหมายความว่าเราทำมาแล้ว อะไรที่จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าเก่า สิ่งต่างๆ ผมก็คงจะต้องขอเริ่มตั้งแต่ เมื่อรัฐบาลไทยประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากนั้นมาก็คงทราบดีว่า หมวดการท่องเที่ยวในอดีต ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ก็อาจจะไม่ได้มองว่าการท่องเที่ยวของไทยเรามีความสำคัญขนาดไหน แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ในสองปีกว่าที่ผ่านมา ทั่วทั้งภูมิภาคในโลกนี้ก็ทราบว่า สุดท้ายแล้วการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญระดับต้นๆ ในอุตสาหกรรมของโลกนี้ เมื่อเกิดโควิด ทุกสิ่งทุกอย่างหยุดชะงัก การเดินทางหยุดชะงัก เพราะฉะนั้นใน 12 หมวดของการท่องเที่ยว หยุดชะงักทั้งหมด เศรษฐกิจทุกประเทศในโลกนี้ก็พลอยหยุดชะงักไปด้วย

ผมก็คงไม่ใช้เวลานานในการที่จะเท้าความถึงอดีตนะครับ ในปี 62 เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.01 ล้านล้านบาท แต่พอมาปีที่แล้ว เราเริ่มเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบจากท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราเปิดประเทศมาเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่กลางปี 2564 ในวันที่ 1 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เราปลดล็อกทุกสิ่งทุกอย่าง และในอนาคต ปีนี้ เราคาดว่าเราน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเท่าไร ก็คือน่าจะใกล้เคียง 25-30 ล้านคน เราควรจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 60 เปอร์เซ็นต์ ของปี 2562

แต่จากการที่ท่านเลขาฯ สภาพัฒน์ตั้งเป้าไว้สูงมากในปี 2570 ก็คือต้องใช้คำแรงนิดหนึ่ง ว่ากดดันพวกผม ว่าพวกคุณต้องทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 25 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ตอนนี้ทั้งตัวผม ทั้งกระทรวง ทั้ง ททท. ทั้งองค์การท่องเที่ยว ทั้ง อพท. ตอนนี้หัวหมุนกันไปหมดว่าพวกเราจะทำอย่างไรให้ได้ตามเป้าที่สภาพัฒน์กำหนด นั่นคือต้องให้ได้ 25 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP นั่นคือเป้าหมาย ก็คงจะไม่น้อยกว่า 6 ล้านล้านบาท เราก็ต้องคิดว่าเราจะไปทำอย่างไร ไปขนคนจากไหนให้มาเที่ยวในประเทศไทย และจะทำอย่างไรเชิญชวนให้คนไทยในประเทศไทยท่องเที่ยวในประเทศไทย อย่าไปเที่ยวต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้เราต้องรวมกัน แต่ผมเรียนว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไม่สามารถที่จะทำในหน่วยงานเดียวได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นองค์รวมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน ที่พวกเราต้องมาช่วยกัน แต่หลังจากนี้ เมื่อโควิดหลุดแล้ว ตอนนี้ประเทศไทยเราจะเดินหน้าไปได้อย่างไร ซึ่งผมคิดว่าการที่ประเทศไทยเราจะเดินหน้าไป มันก็ต้องอยู่ที่การพัฒนา ว่าเราจะทำอย่างไร

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า เราก็ต้องมาดูถึงว่า ในอนาคตเราจะพัฒนาเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างไร คือคุณภาพมันควรจะไปเกี่ยวข้องกับความสมดุลตรงไหน สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าที่ผ่านมา ในปี 2562 เราจะเห็นว่านักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 39.8 ตีว่า 40 ล้านคน ความแออัด ความที่เราต้องบอกว่าเหมือนเป็นสลัมของนักท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ เมื่อโควิดหยุดการท่องเที่ยวไปสองปีกว่า พวกเราจะเริ่มผ่าตัด พวกเราจะพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวที่ว่า ในอนาคตเมื่อกลับมา 40 ล้านคน พวกเราต้องทำอย่างไรให้เกิดความแออัดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ถ้าหากพัฒนาจาก 40 ล้านคน ไปเป็น 50 ล้าน 60 ล้าน 70 ล้าน 80 ล้านคน พวกเราจะต้องทำอย่างไร พวกเราจะต้องสรรหานักท่องเที่ยวที่เข้ามาโดยที่ไม่ต้องใช้ปริมาณ แต่เอาคุณภาพเข้ามาได้ไหม แต่การจะมีนักท่องเที่ยวคุณภาพ ก็ต้องบอกว่า เงิน ไม่ใช่เป็นตัวหลักของตัวชี้วัดว่านี่คือนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ผมคิดว่านักท่องเที่ยวคุณภาพก็มีในหลายรูปแบบ นักท่องเที่ยวที่เข้ามามีการใช้จ่ายสูง อยู่นาน พักนาน เราก็ถือว่าเป็นการมาใช้เงินในประเทศไทยระยะยาวนาน per head หรือต่อคน ต่อทริปการท่องเที่ยวสูงขึ้น ตรงนั้นเราดึงให้คนมาเที่ยวน้อยหน่อยได้ หรือนักท่องเที่ยวที่เราคิดว่าเป็นคุณภาพจริงๆ อาจจะเป็นพวก Back pack ก็ได้แต่ขอให้เขาเคารพกฎกติกา เคารพวัฒนธรรม เคารพประเพณีของประเทศไทยเรา ให้ช่วยกันดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยเรา ไม่ไปทำลายสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเขตอุทยาน เขตทะเล หรือในสถานประวัติศาสตร์ต่างๆ ซึ่งตามคำนิยามของ UNWTO ซึ่งผมก็คงไม่ไปลงรายละเอียดว่านิยามของการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพโดย UNWTO ก็ขึ้นตามหน้าจอ หรือองค์ประกอบการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพซึ่งมี 8 ข้อ ก็มี ความมั่นคงและความปลอดภัย สุขอนามัย สะอาด สะดวก เข้าถึง การสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐาน คุณธรรม จริยธรรม โปร่งใส และเคารพในสิทธิมนุษยชน นี่ก็คือเป็นนิยามของ UNWTO ซึ่งสิ่งต่างๆ ตรงนี้ผมก็อยากจะเชิญเพื่อนๆ ช่วยหยิบโทรศัพท์ถ่ายคิวอาร์โค้ด แล้วพวกเราช่วยกันโหวตว่าสิ่งที่นักท่องเที่ยว ผมเปรียบพวกเราที่นั่งอยู่ในทีนี้เป็นนักท่องเที่ยว แล้วเราทดลองยิงเข้าไปในคำถามในคิวอาร์โค้ด แล้วเราร่วมมือกัน แล้วเราจะรู้ว่า สิ่งที่นักท่องเที่ยวเมื่อเข้าสู่ประเทศไทย สิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคืออะไรบ้าง ? ผมคิดว่าเราก็จะทำการแชร์กันและเราก็จะเป็นข้อมูลสำหรับการที่จะมาดูว่าสิ่งที่เราควรจะพัฒนา ควรจะเดินหน้าต่อไปคือเรื่องอะไรบ้าง

“ก็น่าจะมีไม่มากเท่าไร ก็ถือว่าเราได้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าจอนี้ เมื่อมีคนแชร์เข้ามา เมื่อมีคนเข้าไปลงความเห็น สิ่งเหล่านี้กระทรวงฯ ก็สามารถจำนำกลับมาพัฒนาได้ เราคิดว่าเราควรจะทำในเรื่องอะไร ผมก็ต้องไปประสานกับกระทรวงอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นเจ้าของสถานที่ สิ่งเหล่านี้ก็จะดำเนินการต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะพูดในวันนี้ก็คือเรื่องของ "วาระแห่งชาติ" ของ ททท. คือท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะนำเข้า ครม. ได้ในวันอังคารที่ 14 แต่วันนี้ผมก็จะเอามาเพื่อเกริ่นว่าในเรื่องของวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์ประกอบด้วยกัน เกินกว่าสิบกระทรวง ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไม่สามารถที่จะทำด้วยตัวของเราคนเดียวได้ ซึ่งใน 3 ขั้นตอนของวาระแห่งชาติ ก็คือ ขั้นที่หนึ่ง คือ พร้อมรับ ขั้นที่สอง คือ การพัฒนา ขั้นที่สาม คือ พลิกโฉมประเทศไทย

เริ่มตั้งแต่การพร้อมรับ ผมคิดว่าจากที่เราได้มีการพักการท่องเที่ยวไปประมาณสองปีกว่า ขณะนี้พวกเราพร้อมที่จะทำเรื่องอะไรบ้าง การที่เรามีการหยุดไปสองปี การที่เราเตรียมความพร้อมในเรื่องของความสะดวก สะอาด ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้มันก็จะไปตรงกับหัวข้อต่างๆ ที่ได้รับความนิยมใน 3 หัวข้อ จากการที่ผมไปสัมผัสและไปคุยกับรัฐมนตรีในหลายๆ ประเทศ ทั้งในอาเซียน และในเอเชีย ก็มีสิ่งที่เขาต้องการอยู่ 3 เรื่อง ก็คือ หนึ่ง ความปลอดภัย สอง คุณภาพ สาม คือประสบการณ์ เดี๋ยวผมจะขยายความให้ในภายหลัง

ซึ่งการพร้อมรับในที่นี้ ผมคิดว่าเราก็ต้องชูเรื่องของความพร้อมของประเทศไทย วันนี้ประเทศไทยของเรา ที่เป็นจุดแข็งที่สุดของเราสำหรับการดูแลนักท่องเที่ยว หนึ่ง คุณลักษณะของคนไทยเรา เราเป็นคนที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี เราพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือเพื่อนๆ ที่มาเยือนเราตลอดเวลา สอง เราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดเด่นของโลก เราไม่มีภัยธรรมชาติที่เป็นความรุนแรง สาม เราเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรม มีประเพณีที่สวยงาม อย่างน้อยๆ เรื่องของการเห่เรือ กาพย์เห่เรือ พระราชพิธีทางชลมารค สิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่าเหลือประเทศไทยเพียงประเทศเดียว นี่คือเรื่องของการพร้อมรับ ซึ่งขณะนี้เราอยู่ในช่วงของการ พร้อมรับ ปี 66 และปีหน้า คือปี 67 นี่คือการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่เราจะต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวเกินกว่า 40 ล้านคน

ช่วงที่สอง คือ การพัฒนา การพัฒนาต่างๆ ก็แน่นอนครับ สิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว ขณะนี้ ในปี 66-68 เราควรจะพัฒนาในเรื่องอะไร ในแนวทางไหน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ สิ่งที่เรามีมาแล้ว ผมคิดว่าถ้าเรายังไม่มีการพัฒนา ยังไม่มีการขยาย เราก็จะกลับไปสู่สภาพเดิมเมื่อปี 62 นั่นก็คือความแออัด ความไม่ดี ความไม่สวย ความไม่งาม ความเอารัดเอาเปรียบ มันก็จะกลับมาสู่สภาพเดิม เพราะฉะนั้น เมื่อมีโควิดในช่วงสองปีกว่า การพัฒนาได้เริ่มตั้งแต่ขณะที่เกิดโควิด-19 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราไม่ได้หยุดเรื่องของการพัฒนา เพราะฉะนั้นเรามีการพัฒนาที่โดยเฉพาะเป็นนโยบายหรือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ก็คือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สิ่งเหล่านี้ ในระยะเวลาสองปีกว่า เรามีการขยายเฉพาะของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือขยายไป 272 ชุมชน และขณะนี้เราก็ยังมีการต่อยอดต่อไป เสร็จแล้ว หลังจากนี้เราคงจะต้องไปเอาสิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรม และของกระทรวงมหาดไทย มาควบรวม เพื่อจะเป็นการกระจายนักท่องเที่ยวออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด และเราคงต้องพัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่เชิงสุขภาพ เชิงคุณภาพ และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ และที่สำคัญ เราต้องตอบโจทย์ในการ พลิกโฉม

ซึ่งการพลิกโฉม เป็นช่วงสุดท้ายของระยะเวลา 5 ปี ถึงปี 70 นั่นหมายความว่า เราต้องพลิกโฉมตั้งแต่ปี 68 เป็นต้นไป ถึงปี 70 นั่นหมายความว่าเป็นช่วงที่พีกที่สุดของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และของทุกๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน พวกเราต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน

การพลิกโฉมในทีนี้ แน่นอนครับ ด้วยระบบของราชการ ด้วยระบบของภาคเอกชน แต่ที่สำคัญ เราต้องพลิกโฉมในเรื่องของเทรนด์ของโลก โดยเราต้องเอาเทรนด์ของโลกมาดูว่าปัจจุบันนี้เทรนด์โลกต้องการเรื่องอะไร วันนี้เรื่อง Low Carbon กำลังเป็นที่นิยมของโลก แน่นอนครับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยตัวผม และ อพท. เราได้มีการทำการพลิกโฉมโดยเฉพาะใน 3-4 สถานที่ ก็คือ อันที่หนึ่ง ที่จังหวัดพังงา ในเรื่องของเกาะคอเขา เรากำลังพลิกโฉมเพื่อพัฒนาให้เสร็จก่อนปี 2568 ก็คือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็น Low Carbon 100 เปอร์เซ็นต์ อันนี้เรากล้าพูดเลยว่าเราทำทันแน่ในระยะเวลาสองปีเศษ แต่เป็นพื้นที่เพียงเกาะคอเขา เป็นจุดเริ่มต้น และหลังจากนั้นเราคงพัฒนาไปที่เกาะยาวน้อย ยาวใหญ่ และกะปง ในจังหวัดพังงา ทุกสถานที่ หลังจากปี 70 เราคงจะขยายภาพไปเป็นหนึ่งจังหวัด คือการท่องเที่ยวในจังหวัดพังงา จะเป็นการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon

อีกส่วนหนึ่ง เรากำลังจะทำให้เกิดเป็นเมืองสปา ก็คือที่จังหวัดกระบี่ ที่อำเภอคลองท่อม พวกเราอาจจะทราบหรือไม่ทราบก็ได้นะครับ จังหวัดกระบี่เรามีน้ำพุร้อนจืด ผมคิดว่าเรารู้จักกันทุกคน แต่ที่สำคัญ เรามีน้ำพุร้อนเค็ม ซึ่งเป็นแห่งที่สองของโลก ซึ่งแห่งที่หนึ่งอยู่ในยุโรป ผมจำไม่ได้ว่าประเทศอะไร แต่ของเราเป็นแห่งที่สองของโลก และจากการที่ทางประเทศญี่ปุ่นเอานำไปเทสต์ ปรากฏว่าน้ำพุร้อนเค็มของเราที่จังหวัดกระบี่ ที่คลองท่อม เป็นน้ำพุร้อนที่ดีที่สุดในโลก เรากำลังพัฒนาพื้นที่อำเภอคลองท่อม ที่มีพื้นที่ประมาณ 1 พันตารางกิโลเมตร ให้เป็นเมืองสปาทั้งเมือง นั่นคือหมายความว่าเรากำลังไปในอีกทาง เรื่องของการดูแลเรื่องของสุขภาพ ส่วนจังหวัดภูเก็ต เราจะทำอะไร แน่นอนครับ Expo 2028 กำลังจะเข้ามา ก็ขอฝากเพื่อนๆ และพี่ๆ ทุกท่าน ทุกหน่วยงานว่า ช่วยกันเชียร์เถอะครับ ขอเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 ที่ภูเก็ต เราจะเป็นศูนย์สุขภาพทางเอเชียใต้ โดยจะเอาจังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางในการดูแลเรื่องสุขภาพ และทั้งสิ้นทั้งปวงที่ผมพูดมา

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า แต่ที่จำเป็นและที่สำคัญทั้งหมดในเรื่องของ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพร้อมรับ พัฒนา และพลิกโฉม เมื่อเรามีทั้งสามองค์ประกอบเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เราจะต้องนำมาจับและควบคู่และเดินไปพร้อมกัน คืออะไร หนึ่ง คือนโยบาย BCG ซึ่งตรงนี้เราจะต้องนำเข้าไปผนวกตั้งแต่พร้อมรับ พัฒนา และพลิกโฉม และอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนสุดท้ายที่เราต้องเอาเข้าไปควบรวมให้ได้ ก็คือเรื่องของ ESG

ซึ่ง ESG ก็คงจะเป็นเรื่องของ Environment เรื่องของ Social และเรื่องของ Governance ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่าระดับท่านประธานสภาหอการค้าฯ และประธานสภาอุตฯ คงจะทราบดีว่า ESG พวกเราที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ลองทำอยู่แล้ว แต่ผมพยายามที่จะเอาสองส่วนนี้ คือ BCG กับ ESG มาควบรวมกัน และเพื่อเป็นการผลักดันเรื่องของการท่องเที่ยว เราจะได้สามารถนำไปประชาสัมพันธ์ได้ว่า วันนี้ประเทศไทยเราพร้อมในเรื่องของ Low Carbon เราพร้อมดูแลเรื่องโลกร้อน เราพร้อมที่จะเป็นประเทศสีเขียว โดยนำร่องโดย BCG และ ESG ส่วนท่องเที่ยวของไทยต้องดีกว่า หรือ Better Than Ever ทรัพยากรต้องยั่งยืน เศรษฐกิจต้องเฟื่องฟู ประชาชนอยู่ดีมีสุข

“คำว่า "ประชาชนอยู่ดีมีสุข" สำคัญครับ ผมก็คงมีเวลาที่ไม่เยอะ ก็คงจะไม่ตอบโจทย์ในวันนี้ แต่ผมคงจะต้องขอนำเป็นนโยบายของกระทรวงและของตัวผมเองออกมาต่อภายหลัง หลังจากที่เอาของผมผ่าน ครม. แล้วคลอดออกมาเป็นวาระแห่งชาติเมื่อไร โจทย์ต่างๆ ที่เราจะมาพลิกฟื้นประเทศไทยภายใต้นโยบายของตัวผมเอง ภายใต้นโยบายของกระทรวงฯ และอาจจะต้องบรรจุเป็นนโยบายของพรรค เมื่อเราไปร่วมเป็นรัฐบาลในโอกาสหน้า เราถึงจะต้องผลักดันในเรื่องของนโยบายที่เป็นวาระแห่งชาตินี้ให้ถึงจุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้น เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า ท่องเที่ยวไทยต้องก้าวต่อไป ต้องดีกว่า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวทิ้งท้าย














กำลังโหลดความคิดเห็น