xs
xsm
sm
md
lg

ดีลอยท์เปิดมุมมองธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ชี้ช่องโอกาส-ความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศร่างแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank Licensing Framework - BoT Consultative Paper) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้มีนักลงทุนจากหลากหลายอุตสาหกรรมมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในการเปิดกิจการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจำนวนมาก ทั้งจากภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์เดิม กลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือนักลงทุนที่มีการลงทุนในกลุ่มธุรกิจฟินเทคทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจาก ธปท.ไม่ได้เปิดให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่มาเป็นระยะเวลานาน และการเปิดให้มีการขออนุญาตในครั้งนี้ได้เปิดกว้างให้นักลงทุนในทุกกลุ่มที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือต้องเป็นนักลงทุนในประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้ ธนาคารที่มีในปัจจุบันของประเทศไทยทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่รับเงินฝากจากประชาชนทั่วไปนั้นมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศ โดยธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพียง 17 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 3 แห่ง ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาเปิดธนาคารเพิ่มเติม โดยมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีอยู่ของระบบธนาคาร หรืออาจแชร์ส่วนแบ่งทางตลาดจากกลุ่มลูกค้าเดิมในปัจจุบัน

ทั้งนี้ นายบุญสม จารุศิริธรางกูร พาร์ตเนอร์ และที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเงิน ดีลอยท์ ประเทศไทย มองว่าการดำเนินธุรกิจสำหรับธนาคารพาณิชย์ประเภทใหม่นี้อาจไม่ง่ายนักที่จะประสบความสำเร็จในระยะสั้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่เปิดมานาน เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป มีช่องทางการบริการที่หลากหลายทั้งผ่านสาขา การบริการผ่านโทรศัพท์มือถือ และผ่านอินเทอร์เนตแบงกิ้งอยู่แล้ว ทำให้ผู้เข้ามาใหม่อาจไม่สามารถที่จะแข่งขันได้โดยง่ายเพียงการนำเสนอบริการในรูปแบบธนาคารปรกติ หรือเจาะจงกับฐานลูกค้าเดิมของธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม

โดยโอกาสที่จะเติบโตของธนาคารไร้สาขานั้น ธนาคารอาจต้องมุ่งไปสู่
- กลุ่มลูกค้าที่เป็นฐานลูกค้าเก่าของนักลงทุนเอง กลุ่มลูกค้าเก่าของนักลงทุนจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีต้นทุนในการจัดหา (Acquisition cost) ที่ต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าอื่น

- กลุ่มลูกค้าที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารในปัจจุบัน ได้แก่กลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มที่อยู่ห่างไกลจนไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการของธนาคาร (Unserved customers) กลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้ (Underserved customers) เช่น กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อผ่านระบบธนาคาร เนื่องจากไม่เคยได้รับการอนุมัติสินเชื่อมาก่อน เป็นต้น

- พัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดยเน้นที่ความรวดเร็วของการให้บริการ และการใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาไม่น่าจะทำได้ง่ายนัก เนื่องจากเป็นกิจการประเภทใหม่ จึงทำให้มีความเสี่ยงที่สูงโดยความเสี่ยงเหล่านั้นจะมาจาก

การแข่งขันที่สูงขึ้นจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารที่ต้องการรักษาฐานลูกค้าเดิมของตน

การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในช่วงแรกของการดำเนินงานจาก ธปท. ทำให้คาดการณ์ว่าธนาคารไร้สาขาจะไม่สามารถใช้วิธีการทุ่มตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดดทำได้ยาก

การลงทุนเริ่มต้นที่สูงทั้งจากระบบงานสารสนเทศ และเงินกองทุนขั้นต่ำจำนวน 5,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ทำให้ต้นทุนโดยรวมอาจไม่ต่ำมากเท่าที่ควร

การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เรียกว่า กลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกค้าที่มีรายปานกลางถึงต่ำนั้นอาจทำให้โอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น รวมถึงการไม่มีสาขาอาจทำให้ไม่สามารถรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของลูกค้านั้นได้เท่าที่ควร การควบคุมความเสี่ยงที่ดีโดยเฉพาะการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ อาจทำให้ NPL โดยรวมลดลงได้ในระดับหนึ่ง

"การที่ธนาคารไร้สาขาจะประสบความสำเร็จในระยะสั้นนั้นอาจเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ถ้าปราศจากการบริหารต้นทุนและความเสี่ยงที่ดี ดังนั้น เราจึงไม่น่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หรือนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริงเพื่อจูงใจผู้บริโภค"
กำลังโหลดความคิดเห็น