กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.25-34.80 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.60 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.72-34.61 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทคืนการแข็งค่าสำหรับปี 2666 กลับไปจนหมดสิ้น เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดอลลาร์เทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลักแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้น หลังเงินเฟ้อภาคบริการยังลดลงช้าและอยู่ในระดับสูงเกินไปในมุมมองของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นเกินคาดที่ 5.6% ในเดือน ม.ค.กระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าเฟดยังจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ แข็งแกร่งเกินคาด และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พื้นฐานพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 8 เดือน
ทั้งนี้ ตลาดสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยบ่งชี้ว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อาจจะแตะจุดสูงสุดของวัฏจักรที่ 5.3% ในเดือน ก.ค. จากระดับ 4.50-4.75% ในปัจจุบัน อีกทั้งตลาดเลื่อนการคาดการณ์จังหวะเวลาที่เฟดจะลดดอกเบี้ยออกไปเป็นปี 67
สำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ มองว่าเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ นักลงทุนจะติดตามการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. รวมถึงดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดนิยมใช้ และตลาดคาดว่าดัชนีดังกล่าวอาจทะยานขึ้น 4.3% ในเดือน ม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือน ธ.ค. เทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ระดับ 2% อนึ่ง ด้วยโมเมนตัมของตลาดที่พลิกกลับนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.พ. เรามองว่าค่าเงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนแข็งค่าต่อไปในระยะสั้น
ด้านปัจจัยในประเทศ สภาพัฒน์รายงานจีดีพีย่ำแย่กว่าคาด โดยเศรษฐกิจไตรมาส 4/65 ขยายตัวเพียง 1.4% y-o-y และหดตัว 1.5% q-o-q ทั้งนี้ ในปี 65 เศรษฐกิจเติบโต 2.6% ขณะที่สภาพัฒน์ลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 66 เป็น 2.7-3.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.0-4.0% โดยคาดว่าส่งออกปีนี้จะหดตัว 1.6% ทางด้าน ธปท.ระบุว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่กลับสู่ระดับปกติ โดยการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) กรณีเกิดวิกฤตขึ้นในอนาคต