ผู้จัดการรายวัน360 - บอร์ดธุรกรรม ปปง. มีมติส่งเรื่องให้อัยการ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์ปมการซื้อขายหุ้น "MORE" ของกลุ่มอภิมุขและพวก มูลค่า 4,470 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
วานนี้ (9 ก.พ.) นายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 7 ก.พ.66 พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปดังนี้
1. ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 16 รายคดี ทรัพย์สิน 220 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 106 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชน และการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
2. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 8 รายคดี ทรัพย์สิน 93 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 4,492 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชน การจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ
ทั้งนี้ มีรายคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนรวมอยู่ด้วย อาทิ
1. คดี นายอภิมุข บำรุงวงศ์ พร้อมพวก กรณีซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE โดยมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้เลขาธิการ ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 59 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 4,470 ล้านบาท
2. คดี ห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก (กรณีหลอกลงทุนธุรกิจฟาร์มเห็ด) โดยมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้เลขาธิการ ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 19 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท
กรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน สำนักงาน ปปง. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายภายใน 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อสำนักงาน ปปง. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหายเสร็จสิ้นแล้ว จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อพิจารณาส่งเรื่องเพิ่มเติมให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย) ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ต่อไป
3. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย) จำนวน 5 รายคดี ทรัพย์สิน 58 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 27 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชน และการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ
4. มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 44 รายคดี โดยส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดมูลฐานยาเสพติด ค้ามนุษย์ ฉ้อโกงประชาชน และการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติรับทราบกรณีที่เลขาธิการ ปปง.ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวในกรณีจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 48 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รายคดี นายศิริชัย กับพวก ซึ่งเป็นกรณีความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการยึดและอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม จำนวน 22 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 22 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปปง.อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีกหลายคดี โดยมุ่งเน้นการสืบสวนขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานและตัดเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด ขณะเดียวกันถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน สำนักงาน ปปง. ก็จะพิจารณาดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายด้วย