xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด ก.ล.ต. มีมติไม่ต่ออายุ "รื่นวดี" นั่งเลขาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด ก.ล.ต. มีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 4 ไม่ต่ออายุเลขาฯ ก.ล.ต. ของ "รื่นวดี สุวรรณมงคล" ที่กำลังจะหมดลงในวันที่ 30 เม.ย.นี้ หลังจากเกิดกระแสความขัดแยังปมสะสางคดีใหญ่

วันนี้ (2 ก.พ.) รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (บอร์ด ก.ล.ต.) มีมติด้วยคะแนน 6:4 ไม่ต่ออายุเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล ที่จะครบวาระในวันที่ 30 เมษายน 2566 นี้

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวเป็นระยะถึงสาเหตุที่บอร์ดมีมติไม่ต่อวาระเลขาฯ ก.ล.ต. เกิดจากความขัดแย้งระหว่างบอร์ด ก.ล.ต. ต่อการดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดทุนหลายกรณี โดยเฉพาะเรื่องหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องของกลุ่มบิทคับ ที่มีปัญหาตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ การให้บริการลูกค้า การสร้างปริมาณเทียมปั่นราคาเหรียญ ที่ ก.ล.ต.ได้เข้าตรวจสอบและมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับนับ 100 ล้านบาท รวมถึงประเด็นที่ยังค้างคาอยู่คือ การตรวจสอบและสั่งให้แก้คุณสมบัติเหรียญ KUB จนขาดคุณสมบัติที่จะนำเข้ามาซื้อขายในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล

เรื่องของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ที่ประกาศระงับประกาศระงับธุรกรรมการถอนคริปโตเคอร์เรนซีและเงินบาทชั่วคราว หลังจากสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปลงทุนต่อ จนก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 2 พันล้านบาท จนขาดสภาพคล่องและนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลสิงคโปร์ในที่สุด

โดยในกรณีของซิปเม็กซ์ นั้น ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบและใช้มาตรการทางแพ่งปรับเป็นเงินหลายสิบล้านบาท พร้อมทั้งประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อดำเนินคดีอาญา นอกเหนือจากความผิดตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงประเด็นการซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่สร้างความฮือฮา และก่อให้เกิดความเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ประสานงานตำรวจดำเนินคดีอาญาผู้ร่วมกระทำผิด จนทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้สั่งอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องงประมาณ 24 ราย บัญชีทรัพย์สินจำนวน 34 รายการ มูลค่ากว่า 5.3 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เข้าข่ายกระทำผิดหลายราย พบว่า บล.เอเชีย เวลท์ มีระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไม่รัดกุมเพียงพอ นำเงินไปให้บริษัทแม่กู้ยืม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้า ทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 จึงได้ส่งเรื่องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ดำเนินคดีอาญา รวมถึงส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของ บล.เอเชีย เวลท์

ปมปัญหาดังกล่าวอาจจะกลายเป็นชนวนเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งในบอร์ด ก.ล.ต. และเป็นที่มาของมติไม่ต่ออายุเลขาฯ ก.ล.ต. ของ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล ในครั้งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น