สะพัด! บอร์ด ก.ล.ต. ไม่ต่ออายุ "รื่นวดี" เลขาฯ ก.ล.ต. ที่กำลังจะหมดวาระสิ้น เม.ย. 66 นี้ ท่ามกลางข้อกังขา เกิดจากปมขัดแยังจากการสะสาง 3 คดีใหญ่หรือไม่?
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการก.ล.ต. (บอร์ด ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระการต่ออายุของ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคง เลขาธิการ ก.ล.ต. คนในปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในวันที่ 30 เม.ย. 2566
โดยรายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้าง และมีแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านการต่ออายุต่ออายุเลขาฯ ก่อนจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 4 ไม่ต่ออายุเลขาฯ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน (คณะกรรมการเข้าร่วมประชุม 10 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน เพราะน.ส.รื่นวดี ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้)
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวดังกล่าว ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. และผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ได้มีการตั้งข้อสังเกตจากคนในวงการตลาดทุนว่า หากเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง สาเหตุอาจจะเกิดจากในช่วงตลอดปีที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาในตลาดทุนหลากหลายกรณี โดยเฉพาะประเด็นใหญ่ อาทิ เรื่องของกลุ่มบิทคับ ที่มีปัญหาตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ การให้บริการลูกค้า การสร้างปริมาณเทียมปั่นราคาเหรียญ ที่ก.ล.ต.ได้เข้าตรวจสอบและมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับนับ 100 ล้านบาท รวมถึงประเด็นที่ยังค้างคาอยู่คือการตรวจสอบและสั่งให้แก้คุณสมบัติเหรียญ KUB จนขาดคุณสมบัติที่จะนำเข้ามาซื้อขายในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล
ประเด็นเรื่องของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ที่ประกาศระงับประกาศระงับธุรกรรมการถอนคริปโตเคอร์เรนซีและเงินบาทชั่วคราว หลังจากสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปลงทุนต่อ จนก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 2 พันล้านบาท จนขาดสภาพคล่องและนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลสิงคโปร์ในที่สุด
โดยในกรณีของ ซิปเม็กซ์ นั้น ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบและใช้มาตรการทางแพ่งปรับเป็นเงินหลายสิบล้านบาท พร้อมทั้งประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อดำเนินคดีอาญา นอกเหนือจากความผิดตามพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงประเด็นการซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่ผิดปกติส่อเค้าไปในทางทุจริต หรือปฏิบัติการณ์ "ปล้นโบรกเกอร์" ที่สร้างความฮือฮา และก่อให้เกิดความเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่งก.ล.ต.ได้ประสานงานตำรวจดำเนินคดีอาญาผู้ร่วมกระทำผิด จนทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้สั่งอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องงประมาณ 24 ราย บัญชีทรัพย์สินจำนวน 34 รายการ มูลค่ากว่า ประมาณ 5.3 พันล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เข้าข่ายกระทำผิดหลายราย พบว่า บล.เอเชีย เวลท์ มีระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไม่รัดกุมเพียงพอ นำเงินไปให้บริษัทแม่กู้ยืม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้า ทำผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จึงได้ส่งเรื่องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ดำเนินคดีอาญา รวมถึงส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของบล.เอเชีย เวลท์
จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ก.ล.ต. ได้พยายามเข้าไปตรวจสอบและจัดการแก้ไขปัญหา เพราะแต่ละกรณีได้สร้างความเสียหายแก่นักลงทุนจำนวนมาก มูลค่าหลายพันล้านบาท และอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่กระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนและตลาดคริปโตเคอร์เรนซีได้ แต่ในขณะเดียวกันการเข้าไปจัดการปัญหาก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจ จนอาจกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแยังระหว่างบอร์ดก.ล.ต. ทำให้คดีใหญ่บางคดีต้องล่าช้าออกไปด้วยหรือไม่?