การต่อหรือไม่ต่อวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของ น ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล กำลังเป็นข่าวครึกโครม โดยเฉพาะการขุดคุ้ยเบื้องหลังคณะกรรมการ ก.ล.ต. 6 ต่อ 4 เสียงที่ลงมติไม่ต่อวาระ
น.ส.รื่นวดี ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 9 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 และจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 เมษายน 2566
ก.ล.ต.ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2535 ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองวุ่นวาย ในเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ มีนายเอกกมล คีรีวัฒน์ อดีตรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยุคนายวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ถูกส่งเข้ามาเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. คนแรก แต่ถูกปลด โดยถูกยัดข้อหานำข้อมูลเปิดเผยต่อนักลงทุน
แต่ต่อมาฟ้องร้องนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น จนมีการขอขมานายเอกกมล ภายหลัง และนายสุรเกียรติ์ ก็ถูกนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีปลดออกจากตำแหน่งเหมือนกัน
เลขาธิการ ก.ล.ต.ทั้ง 9 คน ส่วนใหญ่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาดหุ้นให้เกิดความโปร่งใส การลงทุนเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม หลายคนแสดงจุดยืนแข็งแกร่งในการทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน
แต่ ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานรัฐเหมือนหน่วยงานรัฐอื่น ซึ่งมักมีอำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซง และอดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.บางคน สามารถวิ่งเต้นนักการเมืองจนเข้ามาเป็น 1 ใน 9 ของเลขาธิการ ก.ล.ต. แต่เมื่อครบวาระต้องพ้นตำแหน่งไป
วาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.กำหนดไว้วาระละ 4 ปี และไม่เคยมีใครได้ต่อวาระ แต่ละคนครบวาระก็จากไป รวมทั้งนายรพี สุจริตกุล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.คนที่ 8 หรือคนก่อน น ส.รื่นวดี โดยประกาศไม่ขอต่อวาระ เนื่องจากเหลือเพียงไม่กี่ปีจะอายุครบ 60 ปี จึงเกรงจะทำงานไม่ต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้สรรหาคนใหม่เข้ามาแทน
ถ้ามีการต่อวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. น.ส.รื่นวดี จะเป็นเลขาธิการคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. 2 สมัย แม้จะดำรงตำแหน่งอีกเพียง 2 ปี เพราะอายุครบ 60 ปีก็ตาม
ดูเหมือน น.ส.รื่นวดี ยังมีความสุขกับการทำหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต.อยู่ จึงไม่ยอมรับมติคณะกรรมการ ก.ล.ต. และกำลังเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมจากการไม่ได้รับการต่ออายุ
มีการขุดคุ้ยเบื้องหลังการไม่ต่อวาระ น.ส.รื่นวดี อ้างถึงการทำหน้าที่ซึ่งสร้างผลกระทบต่อคนบางกลุ่ม สร้างความไม่พอใจให้คนในองค์กร จนมีเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.ลาออกนับร้อย เพราะทนแรงกดดันไม่ไหว
การอยู่ต่อหรือต้องไปของ น ส.รื่นวดี ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเสียทีเดียว เพราะอดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.ทั้ง 8 คน เมื่อครบวาระก็ต้องสละเก้าอี้ด้วยกันทั้งนั้น แม้จะเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.ที่เข้มแข็ง มีความปรารถนาแรงกล้าในการกำกับดูแลตลาดทุนให้เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยของนักลงทุนก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาให้ น.ส.รื่นวดีได้ไปต่อหรือพอเพียงแค่นี้ ควรปราศจากอคติใดๆ จากคณะกรรมการ ก.ล.ต.ทั้ง 10 คน ต้องไม่มีการแทรกแซงจากคนภายนอก ทั้งกลุ่มผลประโยชน์ในตลาดทุน หรืออำนาจทางการเมือง
แต่ต้องพิจารณาตามเนื้อผ้า ตามผลงานอย่างแท้จริง
ก.ล.ต.ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นประมาณ 2.5 ล้านคน กำกับบริษัทจดทะเบียนเกือบ 1,000 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เกตแคป 20.59 ล้านล้านบาท จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นองค์กรที่โปร่งใส มีความเป็นอิสระ
น.ส.รื่นวดี จะอยู่ต่อหรือต้องไปตามวาระ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ทั้ง 10 คน ต้องตอบสังคมจนความกระจ่างเป็นที่ประจักษ์
ทำไมต้องต่อวาระให้ น ส.รื่นวดี หรือทำไมจึงลงมติให้ น.ส.รื่นวดี พอเพียงแค่นี้
ถ้าผลงาน 4 ปีสอบไม่ผ่าน การไม่ต่อวาระคือความชอบธรรม