รายงานพิเศษ- “ปีนี้ (2566) จะเป็นปีที่มีการหลอกให้คนไปลงทุนในรูปแบบเหรียญคริปโตสูงมาก เพราะอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จึงยังไม่มีกฎหมายใดๆ มาควบคุม ซึ่งพอเราใช้เงินจริงไปแลกเป็นเหรียญคริปโตไปแล้ว มันเท่ากับเราให้เงินเขาไปแล้ว โดยที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง เพียงแต่เรายังคิดว่า เหรียญคริปโตที่เรากอดไว้ มันจะกลับมามีค่าในวันหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มันไม่เป็นแบบนั้น”
นั่นเป็นคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญในวงการการทำธุรกิจทางออนไลน์คนหนึ่ง ซึ่งส่งสัญญาณมาถึงทีมข่าวว่า รูปแบบการดูดเงินจากคนทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ คือการชวนให้ลงทุนด้วยการเปลี่ยนจากเงินจริง ไปเป็นสกุลเงินดิจิทัล หรือ เหรียญคริปโตฯ (Cyptocurrency)
รูปแบบที่ 1 - เชิญชวนให้ลงทุนผ่านเว็บพนันออนไลน์ด้วยเหรียญคริปโต
เมื่อพูดถึงเว็บพนัน แน่นอนว่า “ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน” ด้วยรูปแบบการใช้ “การพนัน” เป็นทางเข้าไปสู่การลงทุน แต่การเชิญชวนให้เล่นพนันด้วยวิธีนี้ จะมีลักษณะเฉพาะ คือ เป็นการพนันที่คล้ายกับการลงทุน ด้วยการเปลี่ยนคำว่า “พนัน” เป็นคำว่า “เกมกราฟแนวใหม่ เล่นง่าย จ่ายเงินจริง เทรดไม่เป็นก็เล่นได้”
ตัวอย่างของการหลอกลวงด้วยวิธีนี้ เช่น แอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Hotgraph88 ซึ่งใช้ภาษาในการชักชวนนักลงทุนด้วยการอธิบายว่า เป็นแพลตฟอร์มเกมกราฟที่ให้ผู้เล่นคาดการณ์ราคาของสินทรัพย์จากตลาดว่าจะ “สูง” หรือ “ต่ำ” หรือคาดการณ์ว่ากราฟนั้นจะขึ้นหรือลง เป็นเลขคู่หรือเลขคี่ ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็ไม่ต่างจากการเล่นพนันนั่นเอง
สิ่งที่ต่างออกไปจากเว็บพนันแบบดั้งเดิมอีกอย่างหนึ่ง คือ การเล่นโดยใช้เงินดิจิทัลแทนเงินจริง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่หลงเชื่อ มีความรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่การพนัน แต่เป็นการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งมีการโฆษณาชวนเชื่อด้วยว่า “รับประกันผลกำไรแน่นอน”
“อยากให้ท่องจำกันไว้เลยนะครับ จริงๆ การลงทุนด้วยคริปโตมันยังทำได้จริง เช่น การไปขุด Bitcoin แต่เราต้องยอมรับด้วยว่า การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง มีโอกาสได้และมีโอกาสเสียเงิน ดังนั้นถ้าไปเจอแอปฯ หรือเว็บที่มาโฆษณาเชิญชวนให้คุณไปลงทุนด้วยการแลกเงินเป็นเหรียญคริปโตก่อน แล้วกล้ารับประกันว่าคุณจะได้กำไรแน่นอน ให้ตั้งสมมติฐานไว้เลยว่า เป็นการหลอกลวง เพราะไม่มีใครที่จะรับประกันได้หรอกว่าการลงทุนจะต้องมีกำไรแน่นอน”
รูปแบบที่ 2 - Rug Pull หรือ การกระชากพรมออกจากกเท้าอย่างกระทันหัน ทำให้คนที่ยืนอยู่บนพรมล้มระเนระนาด
“Rug Pull คือการกระชากพรมออกจากเท้า เป็นวิธีการหลอกลวงที่น่ากลัวกว่ารูปแบบแรก” ผู้เชี่ยวชาญคนเดิมกล่าว
วิธีการนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ที่การลงทุนด้วยเหรียญคริปโตเริ่มเป็นที่นิยม โดยจะมีกลุ่มคนหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ “สร้างโปรเจกต์” ที่น่าตื่นตาตื่นใจขึ้นมา และโฆษณาผ่านวิธีการสื่อสารที่น่าเชื่อถือมากๆ อีกด้วย เพื่อเชื้อเชิญให้คนทั่วไปมาร่วมลงทุนในฐานะ “หุ้นส่วน” ของโปรเจกต์นั้น แต่การจะร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนได้ จะต้องนำเงินจริงมาแลกเปลี่ยนเป็น “เหรียญคริปโต” ซะก่อน
โปรเจกต์ที่น่าสนใจเหล่านี้ มักจะเป็นโปรเจกต์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ดูมีอนาคตในโลกดิจิทัล อาจจะมาในรูปแบบ เกม NFT ลงทุนในธุรกิจปลูกพืชทางดิจิทัล หรือการสร้างเครื่องมือเพื่อเข้าถึงความบันเทิงต่างๆ ในรูปแบบใหม่ๆ และที่สำคัญคือ สินค้าหรือบริการเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานได้จริงๆ จนทำให้คนทั่วไปเกิดความเชื่อถือ และยอมเข้าไปร่วมลงทุนในเวลาอันรวดเร็ว แต่แท้จริงแล้ว มูลค่าที่ถูกลงทุนไปกับการสร้างสินค้าหรือบริการ เป็นสัดส่วนเงินเพียงน้อบนิดเมื่อเทียบกับเงินลงทุนจากคนทั่วไปที่หลงเข้ามาซื้เหรียญคริปโต
“รูปแบบที่ผมคิดว่า เป็นข้อสังเกตที่สำคัญมากๆ ก็คือ โปรเจกต์พวกนี้มักจะเริ่มต้นด้วยความหวือหวา จนทำให้ราคาต่อ 1 เหรียญคริปโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจริงๆ แล้วเรายังพบด้วยว่า แทบไม่มีใครได้ซื้อเหรียญคริปโตในราคาตั้งต้นจริงๆ เพราะราคาดีดขึ้นเร็วมากๆ และในขณะที่ราคากำลังพุ่งขึ้น ทุกคนก็จะเห็นกราฟดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนรีบแห่กันมาซื้อเพื่อหวังเก็งกำไร แต่พอมาถึงจุดที่ราคาขึ้นสูงจนผู้ที่สร้างโปรเจกต์ได้กำไรจากเหรียญคริปโตมากๆ แล้ว กราฟของราคาเหรียญก็จะดิ่งลงอย่างกระทันหันจนมีราคาต่ำกว่าทุนที่ซื้อไปทีแรก นั่นก็คือการกระชากพรมออกอย่างกระทันหัน หรือ Rug Pull นั่นเอง”
“จากนั้นบางโปรเจกต์ก็เลิกไปเลย ถูกลบทิ้ง แต่บางโปรเจกต์ก็ถูกปล่อยไว้แบบนั้น เพื่อให้นักลงทุนทั้งหลายยังมีความหวังว่า ราคาเหรียญจะกลับมาสูงขึ้นอีก แต่แม้จะบางช่วงที่มีการปั่นให้ราคาดีขึ้นบ้าง โปรเจกต์เหล่านี้ก็ไม่เคยกลับมาอยู่ในราคาที่นักลงทุนจะได้กำไรได้อีกเลย”
“มันก็เหมือนการปั่นหุ้นครับ การสร้างโปรเจกต์ใหญ่ๆ ขึ้นมา ก็เหมือนการสร้างข่าวให้หุ้นมีราคาสูงขึ้น ข้อแตกต่างคือถ้าเป็นหุ้นซึ่งใช้เงินจริงๆ การสร้างข่าวปลอมๆ ขึ้นมาแบบนี้มันผิดกฎหมายทันที ทำไม่ได้ เพราะถือว่าจงใจปั่นหุ้น มันมี ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) คอยกำกับดูแลอยู่ แต่พอเขาบอกให้เราเปลี่ยนจากเงินจริงๆ ไปเป็นเหรียญคริปโต มันยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม เพราะเราไปแลกเหรียญให้เขาเอง คนที่สร้างโปรเจกต์มา เขาก็ได้เงินจริงที่เราลงทุนไปใช้สบายๆ แล้ว บางโปรเจกต์ได้เป็นหลักพันล้านหรือหลักหมื่นล้านบาท แต่นักลงทุนก็ยังไม่รู้ตัวว่าโดนหลอก เพราะคุณยังคิดว่าเงินยังอยู่กับคุณ เพราะคุณยังกอดเหรียญคริปโตที่นอนสงบนิ่งไปแล้วอยู่ในมือ”
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ย้ำด้วยว่า การส่งสัญญาณเตือนของเขา ไม่มีเจตนาที่จะลดทอนความน่าเชื่อถือของสกุลเงินดิจิทัล และมั่นใจว่า เงินดิจิทัลจะเป็นรูปแบบที่ถูกนำมาใช้อย่างจริงใจในอนาคตอันใกล้นี้ และในขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ยังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อสิ่งที่เรียกว่า “ร่างประกาศเกี่ยวกับการดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้” (Utility Token) ซึ่งหากประกาศออกมาบังคับใช้ ก็จะทำให้ ก.ล.ต. สามารถเข้ามากำกับดู มีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เหมาะสม และสนับสนุนการพัตฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นไปในทางที่ปลอดภัยได้ เพียงแต่ นี่ยังเป็นแค่ “ร่างประกาศ” ซึ่งจะยังไม่มีผผลบังคับใช้ในช่วงเวลานี้
“ที่เตือนภัยช่วงนี้ เป็นเพราะในวงการคนทำธุรกิจทางออนไลน์ ทราบกันดีว่า ในระหว่างที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จะยังไม่มีกฎหมายควบคุมการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลออกมาบังคับใช้ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ นั่นทำให้ การปั่นค่าเหรียญคริปโต จะยังเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมายของไทย ติดตามเส้นทางทางการเงินไม่ได้ เอาผิดผู้ที่สร้างโปรเจกต์ขึ้นมาไม่ได้”
“ดังนั้นจึงคาดกันว่า ช่วงต้นปี 2566 จะเป็นช่วง “เกียร์ว่าง” หรืออาจพูดได้ว่าเป็นช่วง “นาทีทอง” เป็นช่องว่างที่จะ “ปล่อยผี” ให้กลุ่มคนบางกลุ่ม สามารถใช้การขายฝันให้เกิดการลงทุนด้วยเหรียญคริปโต สร้างโปรเจกต์ที่ดูเหมือนน่าเชื่อถือขึ้นมาหาผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเก็บเข้ากระเป๋าตัวเองไว้ได้ ก่อนที่จะมีกฎหมาย หรือก่อนที่ ก.ล.ต. จะมีอำนาจเข้ามาควบคุม” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวทิ้งท้าย