รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก.จัดการอาชญากรรมออนไลน์ ระงับธุรกรรมต้องสงสัย ใครเปิดบัญชีม้า โทษหนักติดคุก-ปรับเป็นแสน
วันนี้ (24 ม.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ปัจจุบัน มิจฉาชีพมีการหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยายตัวรวดเร็วและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม - 31 ตุลาคม 2565 มีคดีออนไลน์เกิดขึ้นกว่า 114,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 22,000 ล้านบาท เฉลี่ย 800 คดีต่อวัน อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ สามารถระงับการทำธุรกรรมใดๆ ที่ต้องสงสัยว่าเป็นธุรกรรมที่กระทำผิดทางอาญา โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินไปยังบัญชีผู้อื่นที่อยู่ในขบวนการเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า บัญชีม้า ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถระงับการทำธุรกรรมหรืออายัดเงินได้ทันท่วงที
ดังนั้น ครม.จึงมีมติอนุมัติร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. .... เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างเร่งด่วน ร่างพระราชกำหนดนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่หลอกลวงประชาชนให้โอนเงินผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และลงโทษผู้ที่เปิดบัญชีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินมาใช้ในการกระทำความผิดอาญา โดยมีรายละเอียด อาทิ
1. กำหนดให้มีกลไก “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกำหนดหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน
2. สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล
3. ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนได้
4. สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเท่าที่จำเป็น เกี่ยวกับข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน ข้อความสั้น เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและป้องกัน
5. ขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรม อาทิ 1) กรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเอง หรือได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงาน ให้สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรม แล้วแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมต่อไปทันทีเป็นการชั่วคราว หากตรวจสอบแล้วไม่พบเหตุสงสัย ให้สามารถดำเนินการทำธุรกรรมต่อไปได้ 2)กรณีได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรมและแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 48ชั่วโมง และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นภายในเวลา 7 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง
6. การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน สามารถแจ้งผ่านทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ กรณีแจ้งทางโทรศัพท์ให้ผู้ระงับการทำธุรกรรมบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและส่งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
7. กำหนดบทลงโทษ แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้ 1) ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2)ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมให้รับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบทั้งหมดทุกประเด็นเสียก่อน เพื่อให้การตรวจพิจารณาร่างพระราชกำหนดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีผลบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคุ้มครองและปกป้องประชาชนจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ ทั้งนี้ ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา