xs
xsm
sm
md
lg

Twitter จ่อล้มละลาย หากชำระหนี้ไม่ทันงวดแรกสิ้นเดือน ม.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สื่อนอกออกมาแฉเศรษฐีตัวพ่อ Elon Musk โชว์ลูกบ้ากล้าทุ่ม 44 พันล้านดอลลาร์ ซื้อบริษัท Twitter แม้ต้องแบกหนี้ท่วมจากเงินกู้กองโตกว่า 13 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมาจากธนาคารหลายแห่งรวมไปถึงดอกเบี้ยมหาโหดที่ทบทวีมุลหนี้สูงแตะ 1.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือกำหนดเวลาการจ่ายดอกเบี้ยงวดแรกที่จะมาถึงในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ ที่ถึงแม้ว่าจะยังไม่ระบุตัวเลขอย่างชัดเจนว่าในงวดแรกจะต้องจ่ายเท่าไร แต่สถานะการเงินที่เป็นเบี้ยหัวแตกของ Elon Musk ขณะนี้อาจใกล้ภาวะวิกฤติซึ่งถ้าไม่สามารถจ่ายหนี้ได้อาจต้องเร่ขาย Twitter ทิ้งหรือยื่นขอล้มละลาย

จากการรายงานของ Financial Times ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวใกล้ชิดว่า มูลหนี้ที่ต้องชำระของ Elon Musk ในการเข้าซื้อทวิตเตอร์ ซึ่งมีกว่า 13 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นภาระหนี้มหาโหดจากดีลในตัว Elon Musk โดยตรง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนภาพการรัดเข็มขัด ตัดงบอย่างสุดโต่ง (แม้กระทั้งกระดาษชำระในห้องน้ำที่พนักงานจะต้องนำมาเอง) ขณะที่ในส่วนของรายได้ของบริษัทที่ลดลงอย่างมาก ไม่เพียงพอแม้กระทั่งการจ่ายค่าใช้จ่ายเล็กน้อยในสำนักงานทำให้บริษัทอยู่ในภาวะการตัดสินใจอย่างยากลำบากว่าจะกำหนดชะตาอนาคตของบริษัทต่อจากนี้อย่างไร

โดยทาง Financial Times ได้วิเคราะห์ทางเลือกของทวิตเตอร์ภายใต้อุ้งมือของ Elon Musk ไว้ 4 หนทาง คือ

ทางเลือก 1. คือยอมจ่ายหนี้ โดยที่ตอนนี้บริษัทมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ (ตัวเลขที่ Elon Musk กล่าวอ้าง) แต่ทั้งนี้การยอมจ่ายเงินมูลค่าสูงขนาดนี้ อาจส่งผลกระทบเชิงลบที่ต้องแลกมาด้วยกระแสเงินสดในมือที่ลดลง และอาจไม่มีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต้องจ่าย เช่น เงินเดือนของพนักงาน

ส่วนทางเลือกที่ 2 คือการแบ่งขายหุ้นในมือออกบางส่วน เหมือนหั่นชิ้นเนื้อออกไป เพื่อรักษาชีวิตไว้ เพื่อเปลี่ยนมาเป็นเงินสดนำมาใช้หนี้ โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่า Elon Musk พยายามที่จะจัดสรรหุ้นบางส่วนในการขายออกไป แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะสามารถทำตามที่ตั้งไว้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าหาก Elon Musk ทำเช่นนั้น อาจเป็นเหมือนการเสียเลือดถังใหญ่ เพราะต้องตัดขายหุ้นในราคาขาดทุนน้อยกว่าราคาที่ซื้อมามาก

ขณะที่ทางเลือกที่ 3 คือ เบี้ยวไม่จ่ายหนี้ (default) และหันไปขอพึ่งอำนาจศาลด้วยการยื่นขอล้มละลาย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากนั้นอาจมีการเจรจาขอความเมตตากับเจ้าหนี้เพื่อขอลดมูลหนี้ลง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยข้อเสียคือแนวทางนี้อาจใช้เวลานานหลายปีและมีค่าใช้จ่ายบานปลายเพิ่มเป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ Elon Musk อาจต้องเสียอำนาจตามกฏข้อบังคับทางกฏหมายในสิทธิ์และเสียงของการควบคุมบริษัทจากที่มีอยู่เดิม เพราะจะมีการเปลี่ยนถ่ายไปยังแผนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายแทน อีกทั้งหุ้นมูลค่าประมาณ 26 พันล้านดอลลาร์ ในส่วนของการถือครองของ Elon Musk จะมีมูลค่าจนลดลงอย่างมหาศาล

ส่วนทางทางเลือกสุดท้ายคือ Elon Musk อาจต้องโชว์แมนกลืนเลือดในการเจรจากับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ ด้วยการนำเงินส่วนตัวขอซื้อหนี้ของ Twitter มาบริหารเอง และถ้าหากเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว (ซึ่งก็ยังถือว่าเสี่ยงอยู่ดี) ก็จะสามารถแปลงหนี้ส่วนนี้กลับมาเป็นหุ้นของบริษัทในสัดส่วนที่มากขึ้นได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่ของตัวเองลดลง และเจ้าหนี้อาจสร้างเงื่อนไขขายหนี้ให้ Elon Musk ต้องยอมจ่ายเงินเพิ่มมากกว่ามูลค่าจริงที่มีอยู่ ขณะที่ธนาคารเองก็อาจเจอแรงกดดันที่จะต้องยอมลดลดราคาเพื่อขายหนี้ในราคาที่ต่ำลงให้ Elon Musk สามารถซื้อได้ด้วย (เพื่อแลกกับที่ธนาคารไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงหนี้ที่สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น)

อย่างไรก็ตามไม่ว่า Twitter จะเลือกหนทางใด ยังไม่สามารถหนีพ้นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารกลาง ซึ่งอยู่ในระดับเพดานที่สูงมาก (เมื่อเทียบกับช่วงที่ Elon Musk เริ่มกระบวนการกู้เงินมาซื้อกิจการ) ทำให้ต้นทุนการเงินของ Twitter แพงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่ามาก แต่ผลที่กลับมาคือมูลค่าบริษัท Twitter ที่ตกลงสวนทางกันอย่างมาก จากมุลค่าเดิมที่ 44 พันล้านดอลลาร์ตอนที่ ซื้อ Elon Musk เข้าซื้อ โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่ามูลค่าที่แท้จริงของ Twitter ในตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 15 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น เท่ากับว่ากิจการของ Twitter ในมือของ Elon Musk คือหายนะที่ซื้อมาแพง มูลค่าลดลงอย่างรวดเร็ว ผลตอบแทนไม่ชัดเจน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูง

ราคาหุ้น TESLA ที่มีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ Financial Times ปิดท้ายว่า ขณะนี้ Elon Musk กำลังเตรียมที่จะเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอเปลี่ยนเงื่อนไขเงินกู้เป็นแบบไม่มีหลักประกัน (unsecured debt) มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีเพดานดอกเบี้ยหฤโหดกว่า 11.75% มาเป็นเงินกู้แบบมีหลักประกันที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า โดยเสนอเงื่อนไขด้วยการนำหุ้นของ Tesla ซึ่งอยู่ในมือของเขามาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันแทน โดย Elon Musk อาจต้องในหุ้น Tesla จำนวนมากถึง 63% ของที่มีอยู่ มาค้ำประกันเพื่อประคองกิจการของ Twitter ในทางกลับกันตัวหุ้นของ Tesla เองนั้น ก็อยู่ในอาการร่อแร่ เพราะที่ผ่านมาหลังเกิดดราม่าต่างๆทั้งระบบซอร์ฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ การประท้วงปิดโรงงานในจีน ก็สร้างแรงกดดันซึ่งมีผลต่อราคาหุ้นที่แกว่งตัวในทิศทางลงมาอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น