นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 32.70-33.30 บาท/ดอลลาร์ และคาดการณ์กรอบเงินบาทวันนี้ (16 ธ.ค.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-33.00 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.86 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 32.98 บาทต่อดอลลาร์ สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลง และผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้างหากตลาดเผชิญปัจจัยเสี่ยงและเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญในช่วง 33.30-33.50บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติรอจังหวะเพิ่มสถานะ Short USDTHB ตามความหวังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าแม้เงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงหลังผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หรือ ในกรณีที่ BOJ ยืนกรานไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจผันผวนอ่อนค่าและช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นเงินดอลลาร์ได้
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนได้ นอกจากนี้ ควรระวังความเสี่ยงจากประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ (Debt Ceiling)
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ - แม้ว่าเดือนธันวาคมจะเป็นช่วงที่ผู้คนมักจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาล แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจกดดันยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยเฉพาะในส่วนของยอดขายยานยนต์ หรือสินค้าคงทน อย่างเฟอนิเจอร์ รวมถึงการปรับตัวลงของราคาพลังงานที่อาจกดดันยอดขายที่เกี่ยวกับพลังงานเช่นกัน จะทำให้โดยรวมยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนธันวาคมอาจหดตัว -0.9% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้นอาจทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มมีมุมมองสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราลดลงเป็น +0.25% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เช่น John Williams, Lael Brainard, Patrick Harker และ Susan Collins เป็นต้น และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ จะเริ่มมีความน่าสนใจและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ เนื่องจากหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐฯ เสี่ยงที่จะแตะระดับเพดานหนี้ ในวันที่ 19 มกราคมนี้ ทำให้ล่าสุดรัฐมนตรีคลัง Janet Yellen (อดีตประธานเฟด) ได้ออกมาเรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งพิจารณาขยายเพดานหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ (Default risk) โดยในอดีตที่ผ่านมา ตลาดการเงินมักผันผวนและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หากเผชิญความเสี่ยงปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ (Debt Ceiling) ซึ่งในภาวะดังกล่าวผู้เล่นในตลาดมักเลือกเทขายสินทรัพย์เสี่ยง และเลือกที่จะถือทองคำ (หรือเงินเยนญี่ปุ่น) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
▪ ฝั่งยุโรป - ฤดูหนาวของยุโรปที่อุ่นกว่าปกติ ทำให้ปัญหาขาดแคลนพลังงานหรือวิกฤตพลังงานไม่ได้เลวร้ายมาก ซึ่งภาพดังกล่าวได้สะท้อนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปในช่วงที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด และตลาดคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมกราคมอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -15 จุด จากระดับ -23.3 จุด ในเดือนธันวาคม สะท้อนมุมมองของบรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่วนในฝั่งอังกฤษ ตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนธันวาคมจะชะลอลงสู่ระดับ 10.5% ตามการปรับตัวลงของราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ ทว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ 2% ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOE จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 4.50% ได้ในปีนี้ (ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.50%)
▪ ฝั่งเอเชีย - ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการทยอยส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด/ตึงตัวมากขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% พร้อมทั้งคงเป้าบอนด์ยิลด์ 10 ปี ที่ระดับ 0.00%+/-0.50% ตามเดิม แต่หาก BOJ มีการพูดถึงการทบทวนกรอบของบอนด์ยิลด์ 10 ปี หรือทบทวนผลกระทบของนโยบาย Yields Curve Control รวมถึงมีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ผู้เล่นในตลาดอาจตีความว่า BOJ ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับถัดไปแถว 126 เยนต่อดอลลาร์ได้ ในทางกลับกัน หาก BOJ ย้ำจุดยืนไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นอาจเห็นเงินเยนญี่ปุ่นผันผวนอ่อนค่าสู่ระดับ 130.5 เยนต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน นอกเหนือจากการประชุมของ BOJ ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อเนื่อง +0.25% สู่ระดับ 3.00% และ 5.75% ตามลำดับ ส่วนในฝั่งจีน ตลาดคาดว่าผลกระทบจากสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในช่วงปลายปีก่อนหน้า จะกดดันให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ชะลอลงชัดเจน โดยเศรษฐกิจอาจขยายตัวเพียง +1.6%y/y ทำให้ทั้งปี เศรษฐกิจจีนอาจโตน้อยกว่า +3.0%y/y ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนธันวาคมอาจสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาหนัก เช่น ยอดค้าปลีก (Retail Sales) อาจหดตัวถึง -9%y/y และอัตราการว่างงาน (Jobless Rate) อาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 5.8%