xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 33.34 เคลื่อนไหวในกรอบ sideways

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12 ธ.ค.) ที่ระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.60 บาท/ดอลลาร์ ความหวังแนวโน้มเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ จะชะลอตัวลง และสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ช่วยให้ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง โดยผู้เล่นในตลาดเดินหน้าซื้อหุ้นในกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.76% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +1.28%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยรายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ ทำให้เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ไปก่อน อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวันก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ (ช่วงเวลาประมาณ 20.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เรามองว่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจอยากขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ซึ่งเราเริ่มเห็นแรงขายบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติในวันก่อนหน้าถึง -6.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ หากราคาทองคำย่อตัวลงใกล้แนวรับแถว 1,875 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราประเมินว่าผู้เล่นบางส่วนอาจเข้ามาทยอยซื้อทองคำบ้าง ทำให้อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้

ทั้งนี้ เราประเมินว่าหากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรือต่ำกว่าคาดจะช่วยหนุนให้ตลาดยิ่งมั่นใจว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้อาจเห็นภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยง พร้อมกับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ การปรับตัวลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งในกรณีนี้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าลงทดสอบโซน 33.25 บาทต่อดอลลาร์ (หากผ่านแนวรับสำคัญถัดไปคือ 33 บาทต่อดอลลาร์)

แต่หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ กลับไม่ได้ชะลอลงตามคาด ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน เพราะผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง (อาจประเมินว่าเฟดจะยังไม่สามารถชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ง่าย) ส่งผลให้ตลาดการเงินจะพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นรวดเร็ว (ดัชนีเงินดอลลาร์ หรือ DXY อาจรีบาวนด์ขึ้นแตะระดับ 105 จุดอีกครั้ง) กดดันให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ 33.70บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก

ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.38% หลังหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ในฝั่งยุโรปพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น จากความหวังว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม จากความหวังการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังให้เฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย (ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25%ในการประชุมครั้งหน้า) ได้กดดันให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวเล็กน้อยสู่ระดับ 3.54% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอไฮไลต์สำคัญอย่างรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ทำให้ในระยะสั้น บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.50% จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 103.2 จุด สอดคล้องกับมุมมองของเราก่อนหน้าที่ประเมินว่า เงินดอลลาร์จะแกว่งตัว sideways หรืออาจอ่อนค่าลงได้เล็กน้อย หากตลาดเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะยังคงทรงตัว และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านแถว 1,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงมาแกว่งตัวใกล้โซน 1,875-1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่ามุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะราคาทองคำย่อตัวลงในการทยอยเข้าซื้อ และอาจทยอยขายทำกำไรหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านไปทดสอบโซน 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามไฮไลต์สำคัญ คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนธันวาคม โดยตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอลงสู่ระดับ 6.5% จากระดับ 7.1% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน ปัญหา Supply Chain ที่คลี่คลายลง รวมถึงการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาสินค้าและบริการหลายรายการตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงานจะชะลอลงสู่ระดับ 5.7% จากระดับ 6.0% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความสบายใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง จนอาจทำให้เฟดพิจารณาชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตเหลือ +0.25% (ลดลงจาก +0.50% ในการประชุมเดือนธันวาคม)
กำลังโหลดความคิดเห็น