นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 ธ.ค.) ที่ระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน หลังจากที่ล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ขยายกรอบบอนด์ยิลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น เป็น 0.00%+/-0.50% จากเดิม 0.00%+/-0.25% ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น +10bps สู่ระดับ 3.70% กดดันให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังไม่กล้ากลับเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อย่างเต็มที่ แม้ว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าวจะปรับตัวลงมาพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron +1.6% Exxon Mobil +1.5%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และความหวังว่าทางการสหรัฐฯ อาจทยอยซื้อน้ำมันเข้าสู่คลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) ทำให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.10%
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าแม้ว่าเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ แต่เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่ามากกว่าโซนแนวรับที่เรามองว่าแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเราประเมินว่าหากตลาดการเงินยังคงเผชิญความผันผวนต่อเนื่องจากวันก่อนหน้า มีโอกาสที่ผู้เล่นต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ (นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย -1.7 พันล้านบาทในวันก่อน) และจากแนวโน้มบอนด์ยิลด์ระยะยาวทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มขายทำกำไรบอนด์ระยะยาวของไทยได้เช่นกัน (เราเริ่มเห็นการทยอยขายทำกำไรบอนด์ระยะยาวบ้าง แต่ยังไม่มากนัก) และที่น่าสนใจ เรามองว่านักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจใช้จังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับในการทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ซึ่งส่วนหนึ่งได้สะท้อนผ่านยอดขายสุทธิบอนด์ระยะสั้นในสัปดาห์นี้เกือบ -8 พันล้านบาท
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปพลิกกลับมาปรับตัวลง -0.40% กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่น ASML -1.4% Adyen -1.3% หลังจากบอนด์ยิลด์ระยะยาวในฝั่งยุโรปปรับตัวขึ้นตามบอนด์ยิลด์ 10 ปีของญี่ปุ่น จากการขยับกรอบของ BOJ นอกจากนี้ ความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนได้กลับมากดดันให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมต่างปรับตัวลดลง (Kering -3.8% Hermes -0.9%) ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนธันวาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -22.2 จุด ซึ่งพอช่วยลดความวิตกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในฝั่งยุโรปได้บ้าง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก (ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 104 จุด) กดดันโดยการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังจากที่ BOJ ได้ขยับกรอบบอนด์ยิลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดการณ์ว่า BOJ อาจเริ่มทยอยปรับนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายน้อยลง เช่นเดียวกับที่บรรดาธนาคารกลางหลักได้ทำมาก่อนหน้านี้ (ล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า BOJ อาจทยอยขึ้นดอกเบี้ย ครั้งละ +10bps หรือ +0.10% ได้ราว 3 ครั้ง ในปีหน้า)
นอกจากนี้ แม้ว่าบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น แต่บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนักและการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านสู่ระดับ 1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวอาจมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำเกิดขึ้น ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวมีส่วนช่วยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ซึ่งตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคมอาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 101 จุด ตามภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง แม้จะชะลอตัวลงบ้าง ส่วนปัญหาเงินเฟ้อสูงเริ่มจะคลี่คลายลงมากขึ้น