บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL แจ้งข่าวร้ายแต่เช้า ก่อนเปิดการซื้อขายหุ้นวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ระบุถึงการไม่ชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ จำนวน 10.65 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดวันที่ 3 มกราคม และมีผลทำให้หุ้นถูกทุบขายทันที
หุ้น ALL ปิดการซื้อขายวันที่ 4 มกราคมที่ 29 สตางค์ ลดลง 5 สตางค์ มีแนวโน้มที่ราคาหุ้นจะดิ่งลงต่อ
เพราะการผิดนัดชำระดอกเบี้ย ซึ่งฝ่ายบริหารบริษัทฯ บอกว่า มีปัญหาสภาพคล่อง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงฐานะทางการเงินที่ย่ำแย่ และผลประกอบการบริษัทขาดทุนต่อเนื่องหลายปีอีกด้วย
หุ้นกู้ ALL มีวงเงิน 109.90 ล้านบาท ออกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งดอกเบี้ยทั่วไปยังต่ำ แต่ ALL ให้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ 7% ซึ่งสูงมาก เพื่อจูงใจให้นักลงทุนซื้อ และมีนักลงทุนจำนวนกว่า 500 คนเข้าไปซื้อ
หุ้นมีหลักประกันของ ALL ชุดนี้จะครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 1 เมษายนปี 2567 ซึ่งมีคำถามว่า เมื่อครบกำหนดผู้ถือหุ้นกู้จะถูกเบี้ยวหรือไม่ เพราะเงินเพียง 10 ล้านบาท ยังไม่สามารถหามาจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้
การผิดนัดชำระจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ถือว่า ALL ล้มละลายในความเชื่อถือไปแล้ว และราคาหุ้นได้สิ้นอนาคตลงด้วย
ALL เขาจดทะเบียนในตลาด MAI เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนเป็นครั้งแรกในราคา 4.90 บาท จากพาร์ 1 บาท และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ได้ปรับลดพาร์เหลือ 50 สตางค์ ซึ่งเท่ากับราคาหุ้นที่เสนอขายครั้งแรกจะเพิ่มเป็น 9.80 บาท
ปี 2564 ผลประกอบการ ALL ทรุดหนัก ขาดทุนสุทธิ 347.20 ล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 394.58 ล้านบาท
แม้ผลประกอบการจะย่ำแย่ แต่ช่วงกลางปี 2565 ราคาหุ้นกลับถูกลากขึ้น จนขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ราคา 1.84 บาท ก่อนถูกเทขายจนราคาปรับฐานลงมาม้วนเดียวจนหลุด 30 สตางค์
ผู้ถือหุ้นใหญ่ ALL คือนายธนากร ธนวริทธิ์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 31.17% ของทุนจดทะเบียน โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 3,134 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 33.36% ของทุนจดทะเบียน
ผู้ถือหุ้นรายย่อย ALL ทั้งหมดน่าจะติดหุ้นอยู่ยอดดอย โดยส่วนหนึ่งอาจถือมายาวนาน เพราะเมื่อหลงเข้ามาเล่นแล้ว ขายออกไม่ทัน และทำใจตัดขายขาดทุนไม่ได้ แต่ยิ่งถือไว้ยิ่งเข้าเนื้อหนัก เพราะราคาลงมาเรื่อยๆ และไม่รู้จุดต่ำสุดอยู่ที่ไหน
จากหุ้นเก็งกำไรร้อนแรง มีนักวิเคราะห์หุ้นหลายคนเคยเชียร์ให้เล่น แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มจะเป็นหุ้นตายซาก เพราะฐานะทางการเงินมีปัญหา จนไม่อาจคาดหมายชะตากรรมของบริษัทได้
ALL พยายามเพิ่มทุนเพื่อเสริมฐานะทางการเงิน แต่หุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายบุคคลในวงจำกัดก็ขายไม่หมดเสียที
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการ ALL มีมติออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 359.12 ล้านหุ้น เสนอขายบุคคลในวงจำกัด โดยขายให้ บริษัท เอชลอนแคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งครั้งแรกขายจำนวน 25 ล้านหุ้น ในราคา 1 บาท ชำระเงินค่าหุ้นปลายเดือนสิงหาคม 2565
ครั้งที่ 2 ขายอีกจำนวน 41.48 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 94 สตางค์ ชำระเงินค่าหุ้นต้นเดือนกันยายน
ครั้งที่ 3 ขายอีก 53.76 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 93 สตางค์ ชำระเงินกลางเดือนกันยายน ครั้งที่ 4 ขายให้บริษัท เอชลอนแคปปิตอลฯ อีก 63.95 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 91 สตางค์ ชำระค่าหุ้นปลายเดือนกันยายน
ครั้งที่ 5 ขายหุ้นเพิ่มทุนอีก 55.07 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 69 สตางค์ ชำระเงินช่วงกลางเดือนตุลาคม และครั้งที่ 6 ขายอีก 31.74 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 63 สตางค์ ชำระค่าหุ้นต้นเดือนพฤศจิกายน
บริษัท เอชลอนแคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด ปักหลังซื้อหุ้นเพิ่มทุน ALL โดยไม่ยอมถอย ซื้อทุกราคา รวมแล้วซื้อไปประมาณ 270 ล้านหุ้น และกลายเป็นผู้รับเละ
เพราะทุกราคาหุ้น ALL ที่ซื้อ วันนี้ขาดทุนหมด
ความพยายามเสริมสภาพคล่องด้วยการเพิ่มทุน ไม่บรรลุตามเป้าหมายเงินที่ระดมได้ไม่เพียงพอใช้เป็นทุนหมุนเวียน จนเกิดปัญหาฐานะทางการเงิน จนต้องเบี้ยวชำระค่าดอกเบี้ยหุ้นกู้ และเป็นชนวนให้เกิดการทิ้งหุ้น ALL
นักลงทุนคนนอกคงไม่มีใครอยากเข้าไปแตะหุ้น ALL แต่นักลงทุนคนใน หรือผู้ถือหุ้นรายย่อย ปัญหาคือ จะหาทางออกจากหุ้นตัวนี้อย่างไร โดยเจ็บตัวน้อยที่สุด
เพราะโอกาสที่ ALL จะฟื้นแทบมองไม่เห็น มีแต่โอกาสที่จะฟุบยาวๆ จนถึงจุดอวสาน