xs
xsm
sm
md
lg

'คลัง' ฟุ้ง 2 เดือนแรกปีงบ 66 รายได้กระฉูด รีดภาษีทะยาน 3.78 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คลัง” ฟุ้ง 2 เดือนแรกปีงบประมาณ 2566 จัดเก็บรายได้ 4.24 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 5.54 หมื่นล้านบาท หลังทุนหมุนเวียนแห่ส่งผลกำไรส่วนเกิน-รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่และรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM ด้าน 3 กรมภาษีรีดรายได้รวม 3.78 แสนล้านบาท “กรมสรรพากร-กรมศุลกากร” ผลงานแจ่ม

วันนี้ (4 ม.ค.) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-พ.ย.65) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 424,738 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 55,418 ล้านบาท หรือ 15% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.5% โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่

1.หน่วยงานอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM

2.รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้เหลื่อมปีจากงบประมาณก่อนหน้านี้ 3.กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และ 4.กรมศุลกากร เนื่องจากมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-พ.ย.65) รวมกันอยู่ที่ 378,656 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 26,534 ล้านบาท หรือ 7.5% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 12,180 ล้านบาท หรือ 3.3% โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้ รวมอยู่ที่ 275,652 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 24,399 ล้านบาท หรือ 9.7% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 16,138 ล้านบาท หรือ 6.2%

ส่วนกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 75,639 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 8,206 ล้านบาท หรือ -9.8% และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 13,423 ล้านบาท หรือ -15.1% ขณะที่กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 27,365 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 10,341 ล้านบาท หรือ 60.7% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 9,465 ล้านบาท หรือ 52.9%

ส่วนรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้อยู่ที่ 54,716 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 11,408 ล้านบาท หรือ 26.3% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 17,141 ล้านบาท หรือ 45.6% ส่วนหน่วยงานอื่น นำส่งรายได้ 46,186 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 27,483 ล้านบาท หรือ 146.9% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 25,628 ล้านบาท หรือ 124.7%

นายพรชัย กล่าวอีกว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-พ.ย.65) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 415,312 ล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 760,611 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 80,394 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 296,305 ล้านบาท

“รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 71,322 ล้านบาท เนื่องจากการนำส่งรายได้ของกรมสรรพากร จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน การชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี และการนำส่งรายได้ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ” นายพรชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล จำนวน 760,611 ล้านบาทนั้น ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 6,789 ล้านบาท โดยการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ งบรายจ่ายอื่นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 80,091 ล้านบาท งบรายจ่ายอื่นของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 69,586 ล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง จำนวน 61,551 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 54,510 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 47,155 ล้านบาท เงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 30,340 ล้านบาท เงินอุดหนุนของสำนักงานประกันสังคม จำนวน 24,257 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 17,531 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกรมการข้าว จำนวน 15,225 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น