ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยผลสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยมือสอง Q3/65 พบหน่วยประกาศขายลดลงทั้งด้านจำนวนหน่วยและมูลค่า ระบุบ้านเดี่ยวมือสองมีการประกาศขายมากที่สุด โดยมีห้องชุด และทาวน์เฮาส์เป็นกลุ่มที่ประกาศขายรองลงมา ด้านราคาที่มีการประกาศขายมากสุดคือที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท รองลงมาเป็นราคา 3-5 ล้านบาท และ 2-3 ล้านบาท ชี้เหตุยอดประกาศขายลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าเพราะดีมานด์ถูกดูดซับไปช่วงไตรมาส 1-2 ก่อนหมดมาตรการลดหย่อน LTV
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อานวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยมือสองไตรมาส 3/65 มีซัปพลายลดลงจากไตรมาส 2 ทั้งในด้านจานวนหน่วยและมูลค่า โดยมีหน่วยประกาศขาย 162,923 หน่วย และมีมูลค่า 962,188 ล้านบาท ปรับตัวลดลง -3.3% และมูลค่าปรับลดลง -3.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/65 ที่มี 168,541 หน่วย และมีมูลค่า 996,471 ล้านบาท
โดยพบว่า บ้านเดี่ยวมีการประกาศขายมากที่สุด รองลงมาคือห้องชุด และทาวน์เฮาส์ โดยมีระดับราคาไม่เกิน 1ล้านบาท เป็นระดับราคาที่ประกาศขายมากที่สุด รองลงมาเป็นราคา 3-5 ล้านบาท และราคา 2-3 ล้านบาท ซึ่งมีพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีการประกาศขายที่อยู่อาศัยมือสองมากที่สุด 36.3% ของหน่วยประกาศขายทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 62.9% ของมูลค่าทั้งหมด
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหน่วยที่อยู่อาศัยมือสองที่ประกาศขายในแต่ละประเภท พบว่า ที่อยู่อาศัยมือสองเกือบทุกประเภทมีหน่วยลดลงจากไตรมาส 2/65 โดยบ้านเดี่ยวประกาศขายมากที่สุด 64,966 หน่วย ลดลง -4.0% รองลงมาเป็นห้องชุด 48,768 หน่วย ลดลง -3.1% ทาวน์เฮาส์ 42,394 หน่วย ลดลง -3.3% ขณะที่อาคารพาณิชย์มีจำนวน 4,428 หน่วย เพิ่มขึ้น 0.8% และบ้านแฝด 2,367 หน่วย เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ส่วนในด้านมูลค่า พบว่า บ้านเดี่ยวมีมูลค่าในการประกาศขายมากที่สุด โดยมูลค่า 468,805 ล้านบาท ลดลง -6.6% รองลงมาเป็นห้องชุด มูลค่า 352,231 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% ทาวน์เฮาส์ มูลค่า 111,718 ล้านบาท ลดลง -8.1% อาคารพาณิชย์ มูลค่า 21,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% และบ้านแฝด มูลค่า 7,993 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส2/65
“ในเชิงจำนวนหน่วยที่ประกาศขายในไตรมาส 3/65 มีจำนวนหน่วยรวมทั้งหมด 162,923 หน่วย ในจำนวนนี้บ้านเดี่ยวประกาศขายมากที่สุด 39.9% รองลงมาเป็น ห้องชุด 29.9% ทาวน์เฮาส์ 26.0% อาคารพาณิชย์ 2.7% และบ้านแฝด 1.5% เมื่อคิดเป็นมูลค่ารวมที่อยู่อาศัยมือสองที่ประกาศขายรวมอยู่ที่ 962,188 ล้านบาท โดยบ้านเดี่ยวมีสัดส่วนมูลค่าประกาศขาย 48.7% รองลงมาเป็นห้องชุด 36.6% ทาวน์เฮาส์ 11.6% อาคารพาณิชย์ 2.2% และบ้านแฝด เป็นประเภทที่มีมูลค่าประกาศขายน้อยที่สุด 0.8%”
ดร.วิชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาหน่วยที่อยู่อาศัยมือสองที่ประกาศขายในแต่ละระดับราคาพบว่าไตรมาส 3/65 มีที่อยู่อาศัยมือสองทุกประเภทลดลงจากไตรมาส 2/65 โดยระดับราคาไม่เกิน 1.00 ล้านบาทประกาศขายมากที่สุด 36,444 หน่วย ลดลง -1.0% รองลงมาเป็นระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท 25,397 หน่วย ลดลง -5.1% ระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท 23,905 หน่วย ลดลง -3.7% ระดับราคา 1.01-1.50 ล้านบาท มีจำนวน 18,920 หน่วย ลดลง -1.2% ระดับราคามากกว่า 10.00 ล้านบาท 18,491 หน่วย ลดลง -6.3% ระดับราคา 1.51-2.00 ล้านบาท 17,598 หน่วย ลดลง -0.6% ราคา 5.01-7.50 ล้านบาท 14,619 หน่วย ลดลง -6.0% และราคา 7.51-10.00 ล้านบาท 7,549 หน่วย ลดลง -5.5%
สำหรับ สัดส่วนราคาในเชิงจำนวนหน่วยที่ประกาศขายในไตรมาส 3/65 สูงสุด 3 อันดับแรก พบว่า ระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มีสัดส่วน 22.4% อันดับสองราคา 3-5 ล้านบาท 15.6% และอันดับสามราคา 2-3 ล้านบาท มีสัดส่วน 14.7% ซึ่งสัดส่วนหน่วยประกาศขายทั้ง 3 ระดับราคารวมกันมีสัดส่วนถึง 52.6% แต่สาหรับสัดส่วนระดับราคาในเชิงมูลค่าพบว่า 3 อันดับแรกที่มีสัดส่วนมากที่สุด ได้แก่ ราคามากกว่า 10 ล้านบาท มีสัดส่วน 59.4% อันดับสองราคา 3-5 ล้านบาท มีสัดส่วน 10.4% และอันดับสามราคา 5.01-7.50 ล้านบาท มีสัดส่วน 9.4% โดยทั้ง 3 กลุ่มราคานี้มีมูลค่ารวมคิดเป็น 79.1% ของมูลค่าตลาดรวม
ส่วน ทำเลที่อยู่อาศัยมือสองที่ประกาศขายในไตรมาส 3/65 พบว่า 10 จังหวัดที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง นครราชสีมา และขอนแก่น โดยกรุงเทพฯ มีหน่วยประกาศขาย 59,181 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 36.3% และมีมูลค่า 605,587 ล้านบาท คิดเป็น 62.9% เมื่อเทียบกับทั้งประเทศ ขณะที่จังหวัดอันดับที่ 2-10 มีสัดส่วนหน่วยและมูลค่าของแต่ละจังหวัดไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยมูลค่าและทั่วประเทศ แต่ 10 จังหวัดนี้มีสัดส่วนจำนวนหน่วยเป็น 70.9% และสัดส่วนของมูลค่ารวมกันมากถึง 88.2% ส่วนจังหวัดที่เหลืออีก 67 จังหวัด มีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกัน 29.1% และมีสัดส่วนมูลค่ารวมกันเพียง 11.8% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม พบว่าใน 10 จังหวัดมีมูลค่าสูงสุด จังหวัดที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน 3 อันดับแรก คือภูเก็ต ลดลง -14.1% เชียงใหม่ลดลง -9.7% และชลบุรี -7.2% โดยจังหวัดอื่นๆ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง -8.7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในจังหวัดรองต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ลดลงเช่นเดียวกัน
“การที่ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองในไตรมาส 3/65 ประกาศขายลดลงอาจเกิดจากการที่ตลาดบ้านมือสองที่ถูกดูดซับซึ่งสอดคล้องกับการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1-2 ที่ผ่านมา และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 64 กว่า 15% ก่อนที่จะหมดมาตรการผ่อนปรน LTV และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยเพิ่มเติมการให้สิทธิครอบคลุมมาถึงที่อยู่อาศัยมือสอง จากเดิมที่มีผลเฉพาะที่อยู่อาศัยสร้างใหม่” ดร.วิชัย กล่าว