ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งต่อผู้กระทำความผิด 2 ราย ได้แก่ (1) น.ส.อุไรวรรณ แซ่หลี (น.ส.อุไรวรรณ) และ (2) นายธีรพล สินไชย (นายธีรพล) กรณีสร้างราคาหุ้นบริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) (MBAX) โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 8,674,903 บาท รวมทั้งกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน และห้ามเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารเป็นเวลา 17 เดือน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า ระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคม-2 พฤศจิกายน 2563 น.ส.อุไรวรรณ และนายธีรพล ได้ร่วมกันสร้างราคาหุ้น MBAX ให้ผิดไปจากสภาพปกติของตลาดซึ่งทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 4.40 บาท เป็น 8.60 บาท โดยนายธีรพล ได้ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ น.ส.อุไรวรรณ ตามที่ได้รับมอบอำนาจ จำนวน 6 บัญชี และบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองอีก 2 บัญชี รวมทั้งสิ้น 8 บัญชี ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น MBAX ในลักษณะที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ และส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกันเพื่อให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ส่วน น.ส.อุไรวรรณ ทำหน้าที่จัดการธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น MBAX ดังกล่าว
การกระทำของบุคคลดังกล่าวข้างต้นเป็นความผิดตามมาตรา 244/3(1)(2) ประกอบมาตรา 244/5(4)(5) และมาตรา 244/6(2)(3)(4)(6) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 มาตรา 296/1 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับต่อผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งให้ น.ส.อุไรวรรณ และนายธีรพล ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,014,482 บาท และ 660,421 บาท ตามลำดับ รวมทั้งกำหนดมาตรการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลารายละ 8 เดือน 15 วัน และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลารายละ 17 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง