xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 5 ปัจจัยเสี่ยงฉุดตลาดหุ้น หลังเก็บภาษีปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เอเซียพลัส ระบุ 5 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะส่งผลต่อตลาดหุ้นหากรัฐเก็บภาษีขายหุ้นในปีหน้า ทั้งภาระค่าคอมมิชชันสูงขึ้นถึง 64% P/E ตลาดวูบ ทำเสน่ห์ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจน้อยลง อีกทั้งผลตอบแทนลดลงจากภาวะสภาพคล่องต่ำ

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผย 5 ปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อตลาดหุ้นหากรัฐเก็บภาษีขายหุ้นในปีหน้า โดยได้ประเมินสิ่งที่นักลงทุนต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหากรัฐบาลมีการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นในปี 2566 จะส่งผลต่อนักลงทุนและตลาดหุ้น ประกอบด้วย

1.ภาระค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นสูงขึ้นถึง 64% ของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันธุรกิจโบรกเกอร์มีค่าคอมมิชชันเฉลี่ย 0.086% หากมีการเก็บภาษีขายหุ้น 0.11% (ซึ่งเป็นอัตราการเรียกเก็บภาษีที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2534 แต่ก่อนค่าคอมมิชชันสูงกว่าปัจจุบันมาก) จะทำให้นักลงทุนมีภาระค่าคอมมิชชันที่สูงขึ้นถึง 64%

2.ช่วงระยะเวลาในการขึ้นภาษีเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ตามกลไกช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันระดับ P/E ในการซื้อขายจะถูกลดทอนอยู่แล้ว หากขึ้นภาษีตอกย้ำให้สภาพคล่องในระบบลดลงอีก

3.ช่วงระยะเวลาในการเก็บภาษีปีหน้าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วง Recession หากมีการขึ้นภาษีเวลานี้ ทำให้เสน่ห์ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลงไป

4.นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้รับภาระค่าคอมมิชชันสูงกว่านักลงทุนในประเทศ เนื่องจากต่างชาติซื้อขายหุ้นไทยปี 65 ต่อปี 8.40 ล้านล้านบาท แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทย +NVDR เพียง 28.2% คิดเป็นมูลค่าตลาด 5.58 ล้านล้านบาท แสดงว่ามี Turnover ในการซื้อขายสูงถึง 150% ต่างกับนักลงทุนไทยทั้งหมดซื้อขายหุ้นไทยปีนี้สูงกว่าต่างชาติเล็กน้อย 9.12 ล้านล้านบาท แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยสูงถึง 71.8% 14.2 ล้านล้านบาท

5.สถิติในปี 54-65 (12 ปี) ชี้ให้เห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยมักไม่ดีในช่วงที่สภาพคล่องซื้อขายต่ำ สะท้อนได้จากข้อมูล Histogram Turnover ของ SET ปี 54-65 เทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยรายวัน พบว่า เวลาที่มูลค่าซื้อขายสูงกว่า +1SD ตลาดหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 18.3% แต่ถ้ามูลค่าซื้อขายอยู่ในระดับปกติ (ช่วง -1SD ถึง +1SD) ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะลดหลั่นลงมาเหลือ +5.6% ต่อปี แต่เวลาที่มูลค่าซื้อขายต่ำกว่า -1SD (Turnover 59.7% ต่อปี) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ -2.9% ดังนั้นภายใต้มูลค่าซื้อขายที่มีโอกาสลดลงในอนาคต

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 29 พ.ย.65 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์) โดยให้จัดเก็บในอัตราครึ่งหนึ่ง หรือ 0.05% (รวมกับภาษีท้องถิ่นจะเป็น 0.055%) ของอัตราตามประมวลรัษฎากรในการจัดเก็บภาษีปีแรก คาดจะมีผลบังคับตั้งแต่เดือน มิ.ย.66 หลังจากนั้นจะจัดเก็บในอัตราตามประมวล หรือ 0.10% (รวมภาษีท้องถิ่นจะเป็น 0.11%) ในปีต่อๆไป คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น