xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ผลงานฟื้น EV หนุนยอดผลิตคึก-ต้นทุนวัตถุดิบคลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์หรือกลุ่ม AUTOMOTIVE SECTOR แนวโน้มสดใส ให้น้ำหนักการลงทุนเทียบหรือมากกว่าตลาด เนื่องจากยอดผลิตรถยนต์ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลประกอบการพลิกฟื้นและกลับมาเติบโต ขณะต้นทุนวัตถุดิบเริ่มผ่อนคลาย อีกทั้งทั่วโลกหันและปรับการใช้รถยนต์มาเป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ แนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการอุดหนุน EV ที่จะเข้า ครม. เดือน พ.ย. นี้ ทั้ง EA, NEX, BYD และ GPSC ขณะผู้ผลิตชิ้นส่วนยกให้ AH และ SAT 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยเดือน ก.ย.2565 มียอดการผลิตรถยนต์ จำนวนทั้งสิ้น 179,237 คัน สูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือน กันยายนปี 2564 ที่ 27.99% และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2565 ที่ 4.37% เป็นผลมาจากการผลิตเพื่อส่งออกได้ถึง 106,190 คัน เท่ากับ 59.25% ของยอดผลิตทั้งหมด ดังนั้นทำให้ตัวเลขกำลังการผลิตรวมช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2565) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,364,037 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.55% ขณะที่ยอดการผลิตรถจักรยานยนต์ในช่วงเดือนกันยายนผลิตได้ทั้งสิ้น 249,710 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 61.23%

ส่วนยอดขายรถยนต์ภาย ในประเทศเดือน กันยายน 2565 อยู่ที่ 74,150 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.64% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น การส่งออกเติบโตต่อเนื่องหลายเดือน การประกันรายได้เกษตรกร ส่วนยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนกันยายนอยู่ที่ 100,389 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.91%

โดยในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือ BEV ป้ายแดง เดือน กันยายน 2565 จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 2,210 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียว กันของปีก่อน 275.85% ส่งผลให้ 9 เดือน BEV จดทะเบียนใหม่ 13,298 คัน เพิ่มขึ้น 223.47% ขณะที่รถยนต์ไฮบริด หรือ HEV จดทะเบียนใหม่ 6,718 คัน เพิ่มขึ้น 176.01% ซึ่ง 9 เดือนอยู่ที่ 49,811 คัน เพิ่มขึ้น 74.91% และประเภทปลั๊กอิน หรือ PHEV 1,083 คัน เพิ่มขึ้น 79.60 % ส่วน 9 เดือนจดทะเบียนใหม่ 8,792 คัน เพิ่มขึ้น 63.57%

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายอดผลิต-ยอดส่งออก รวมไปถึงยอดขายที่เติบโต ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากชิ้นส่วนชิปต่างๆ เริ่มมีการส่งมอบมากขึ้น ทำให้สามารถผลิตรถป้อนตลาดได้ โดยกลุ่ม ส.อ.ท. อาจจะมีการพิจารณาปรับเป้าหมายอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับลดในส่วนของตลาดส่งออกและปรับเพิ่มในส่วนของตลาดในประเทศ

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
 บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ บล.กรุงศรีฯ  แนะนำ "POSITIVEหรือบวก " ต่อกลุ่ม AUTOMOTIVE SECTOR หลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานยอดผลิตรถยนต์ในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน เป็น 493,926 คัน บล.กรุงศรีฯคาดว่ากำไรปกติของ AH หรือ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) และ SAT หรือบริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ในไตรมาส 3 จะอยู่ที่ 332 ล้านบาท ( เพิ่มขึ้น 162% จากปีก่อนและ 18% จากไตรมาสก่อน ) และ 240 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนและ 15 %จากไตรมาสก่อนตามลำดับ แต่กำไรของ SAT จะโตต่ำกว่าอุตสาหกรรมเนื่องจากยอดการผลิตรถแทรคเตอร์ลดลง บล.กรุงศรีฯ เลือก AH เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยอดผลิตรถยนต์รวมพุ่งสูงขึ้น 28% เทียบปีก่อน ในเดือนกันยายน

โดย ส.อ.ท.รายงานว่ายอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทย พุ่งสูงขึ้น 28.0% เทียบปีก่อน ในเดือนกันยายนเป็น 179,237 คัน เนื่องจาก อุปสงค์แข็งแกร่ง และ ผลจากฐานที่ต่ำ ( มีการใช้มาตรการ lockdown เต็มที่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2021) โดยยอดผลิตรถยนต์ดังกล่าวยังเพิ่มขึ้น 4% เทียบเดือนก่อน หนุนโดยการออกรถกระบะรุ่นใหม่ทั้งในตลาดไทยและตลาดส่งออก ประกอบกับปัญหาขาดแคลน chip ที่คลี่คลายลงไปก็น่าจะเป็นแรงส่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายไตรมาส พบว่ายอดผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น 34% เทียบปีก่อน (27% เทียบไตรมาสก่อน ) เป็น 493,926 คัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากยอดผลิตรถกระบะขนาด 1 ตันที่เพิ่มขึ้นถึง 53% จากปีก่อน (29% เทียบไตรมาสก่อน) ในขณะที่ยอดผลิตรถยนต์นั่งโดยสาร (passenger car) เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำกว่าที่ 14% จากปีก่อน (33% จากไตรมาสก่อน )

อย่างไรก็ดี บล.กรุงศรีฯ คาดผลประกอบการไตรมาส 3 น่าจะดีขึ้นทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน ในแง่ของวัตถุดิบ คาดว่าราคาเหล็กรีดร้อน (Hot Rolled Coil หรือ HRC) จะทรงตัว หรือลดลงใน ครึ่งปีหลัง เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอ่อนแอ โดยราคาเหล็กลดลงมาแล้วถึง 53% จากจุดสูงสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ประมาณ USD1,529/ton มาอยู่ที่ USD710 ซึ่งจะทำให้กำไรในครึ่งปีหลัง แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก นอกจากนี้ บล.กรุงศรีฯ ยังคาดว่ากำไรในไตรมาส 3 จะดีขึ้นทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน เนื่องจากฐานที่ต่ำในไตรมาส 3 ปี 2564 เพราะอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงในช่วงที่มีการใช้มาตรการคุมโควิด-19 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2564 (มีวันหยุดมากกว่า โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์) บล.กรุงศรีฯ คาดว่ากำไรปกติของ AH และ SAT ในไตรมาส 3 จะอยู่ที่ 332 ล้านบาท ( เพิ่มขึ้น 162% จากปีก่อนและ 18 จากไตรมาสก่อน ) และ 240 ล้านบาท ( เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนและ 15 %จากไตรมาสก่อน ) ตามลำดับ แต่กำไรของ SAT ในไตรมาส 3 จะโตต่ำกว่าอุตสาหกรรม

โดยยอดการผลิตรถแทรคเตอร์ลดลง 24% เทียบไตรมาสก่อน เหลือ 20,000 คัน (ทั้งนี้รายได้ของ SAT จากธุรกิจในภาคเกษตรคิดเป็น 20% ของยอดขายรวม) แนวโน้มกลุ่มยานยนต์เป็นบวก ยังคงคำแนะนำซื้อทั้ง AH (ราคาเป้าหมาย 36 บาท) และ SAT (ราคาเป้าหมาย 26 บาท) เนื่องจากอุปสงค์กำลังฟื้นตัวขึ้น และสถานการณ์ขาดแคลน chip คลี่คลายลงในครึ่งปีหลัง เพราะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มเข้ามา และอุปสงค์ชะลอตัวลงจาก การสิ้นสุดช่วงของการทำงานจากที่บ้าน ให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มยานยนต์ที่Overweight โดยเลือก AH เป็นหุ้นเด่น เพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่าเพราะสามารถปรับราคาขายภายในหนึ่งไตรมาส และ ฐานลูกค้าที่มีลักษณะ กระจายตัวมากกว่า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยอดขายชิ้นส่วนรถ EV

ภาพชิ้นส่วนยานยนต์จากอินเตอร์เน็ต
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) หรือ บล.หยวนต้า ฯประเมินหุ้นAUTOMOTIVE ให้คำแนะนำ "Neutral หรือเท่ากับตลาด " เพราะ บล.หยวนต้า ฯ คาดไตรมาส 3 ปีนี้ ผลประกอบการจะพลิกฟื้น กลับมาเติบโต 20% เทียบไตรมาสก่อน และ 50% จากปีก่อน ตามยอดผลิตที่ดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบที่เริ่มผ่อนคลาย

ขณะ แนวโน้มไตรมาส 4 ปีนี้ คาดยังฟื้นตัวต่อ เทียบปีก่อน ขณะที่ภาพรวมปี 2565 บล.หยวนต้า ฯ คาดกำไรปรับลดลง 7% เนื่องจากต้นทุนที่กดดันกำไรครึ่งปีแรก เนื่องจาก EV ถือเป็นวัฏจักรการเติบโตรอบใหม่ของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งค่ายจีนเริ่มเดินหน้าไปก่อนค่ายญี่ปุ่น

บล.หยวนต้า ฯ มองว่าอุตสาหกรรมผ่านจุดที่แย่สุดไปแล้ว ผลประกอบการเริ่ม พลิกกลับมาเติบโตในไตรมาส 3 ปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์ขาดแคลนชิพที่คลี่คลาย ซึ่งคาดผลประกอบการในปี 2566 จะกลับมาเติบโต ขณะปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ซึ่งอาจกระทบต่อตลาดส่งออก

ดังนั้น บล.หยวนต้า ฯ เลือก AH(TP@37.60) เป็นหุ้น Top pick เพราะคาดว่าผลประกอบการปี2565 จะเติบโต Outperform กลุ่มยานยนต์ที่ผลประกอบการติดลบ เนื่องจากได้ออร์เดอร์ใหญ่ที่เป็นโมเดลGlobal Market และธุรกิจ OEM ในประเทศถือเป็นช่วงเปลี่ยนโมเดลสำหรับรถกระบะใหม่ ขณะบริษัทลูกที่จีน มาเลเซียและโปรตุเกส คาดจะพลิกฟื้นเด่นในปีนี้

บล.ดาโอ มองหุ้น Automotive พร้อมคำแนะนำ "Neutral หรือเท่ากับตลาด " เนื่องจากยอดผลิตรถยนต์ เดือนกันยายนปี 2565 ดีขึ้นต่อเนื่องทั้งเทียบปีนี้และเดือนก่อน รับข่าวใหม่อย่างยอดผลิตรถยนต์เดือน กันยายนปี 2565 ดีขึ้นต่อเนื่อง จากทั้งยอดส่งออกและยอดขายในประเทศที่เติบโตดี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานยอดผลิตรถยนต์เดือนกันยายนปี 2565 อยู่ที่ 1.79 แสนคัน หรือเพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อน และ 4% จากเดือนก่อน สูงสุดในรอบ 40 เดือน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผลิตได้ 1.81 แสนคัน) โดยได้ผลบวกจาก ยอดส่งออกที่เติบโตโดดเด่นเป็น 1.0 แสนคัน เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อนและ 37% จากเดือนก่อน สูงสุดในรอบ 9 เดือน จากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นในรถยนต์ส่งออกบางรุ่น จึงส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาดยกเว้นยุโรป และยอดขายรถยนต์ในประเทศยังเติบโตได้ดีอยู่ที่ 7.4 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน และ 9% จากเดือนก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ดังนั้น ส่งผลให้ 9 ปีนี้ ยอดผลิตรถยนต์อยู่ที่ 1.36 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน (ที่มา: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)

ทั้งนี้ บล.ดาโอ มองเป็นบวก จากยอดผลิตรถยนต์ที่ยังเติบโตได้ดีขึ้น ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์รวม 9 เดือนแรกปีนี้คิดเป็น 76% จากเป้าทั้งปี ที่ บล.ดาโอ ประเมิน 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน สำหรับแนวโน้มยอดผลิตรถยนต์ในช่วงเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 จะยังทรงตัวได้ดีเทียบเดือนก่อน จากสถานการณ์การขาดแคลนชิปที่ใช้กับรถยนต์มีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้สามารถผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกได้ดีขึ้น รวมทั้งยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์จะชะลอตัวในเดือนธันวาคม 2565 จากปัจจัยฤดูกาลที่มีวันหยุดยาว

อย่างไรก็ดี กลุ่ม Automotive ยังให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “Neutral” หุ้น top pick ได้แก่ SAT โดยราคาหุ้นกลุ่ม Automotive ปรับตัวขึ้น outperform SET เพิ่มขึ้น 5% ในช่วง 3 เดือน จากยอดผลิตรถยนต์เดือน กรกฎาคม-กันยายน 2565 ที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง สำหรับหุ้น top pick ได้แก่ SAT แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 24.50 บาท บาท อิง 2566 E PER ที่ 10 เท่า (5-yr average PER) โดยมี key catalyst จากกำไรไตรมาส 3 ปี2565 ที่จะดีขึ้นเป็น 235 ล้านบาท ( เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน ) ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตได้ดี และไตรมาส 4 ปี 2565 จะเริ่มได้ผลบวกจากต้นทุนวัตถุดิบเหล็กที่ทยอยลดลง โดย บล.ดาโอ ประเมินกำไร SAT ในปี 2565 / 2566 ที่ 950 ล้านบาท ทรงตัวเทียบปีก่อน และ 1.05 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน ขณะที่ valuation ปัจจุบันน่าสนใจ เทรด 2566 EPR ต่ำที่ 8.7 เท่า (-0.75SD )

ทั้งนี้ ยอดผลิตรถยนต์ที่ฟื้นตัวดียังเป็นบวกต่อ EPG, JWD ขณะที่ยอดส่งออกเติบโตโดดเด่นจะเป็นบวกต่อ NYT สำหรับยอดผลิตรถยนต์ที่ฟื้นตัวดี บล.ดาโอ มองเป็นบวกต่อหุ้นที่มีรายได้จากธุรกิจยานยนต์ที่จะปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ EPG แนะนำ ซื้อราคาเป้าหมาย 12.00 บาท อิง FY23E core PERที่ 22 เท่า (5-yr average PER) มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจยานยนต์ 45%-50% และ JWD แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 21.00 บาท อิง 2023E core PER ที่ 33 เท่า (5-yr average PER) มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจยานยนต์ราว 10%-15% นอกจากนั้น ยอดส่งออกรถยนต์ที่ฟื้นตัวโดดเด่น บล.ดาโอ มองเป็นบวกต่อ NYT (เป้า Bloomberg consensus เฉลี่ย 4.10 บาท) ที่ทำธุรกิจท่าเรือส่งออกและนำเข้ารถยนต์


โกลเบล็ก" คัด 4 หุ้นเด่นรับมาตรการหนุน EV

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ยังแกว่งตัว Sideway โดยยังมีแรงหนุนจากทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนยังจับตาตัวเลข CPI ที่จะแสดงถึงทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐในวันที่ 10 พ.ย.นี้ หลังจากมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 261,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง แต่ก็ชะลอตัวจากระดับ 315,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. ขณะที่อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.5% ในเดือน ก.ย.

ทั้งนี้ ทาง Fed Watch Tool ของ CME Group ได้ส่งสัญญาณว่า นักลงทุนให้น้ำหนักราว 62% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. นี้อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 51.5% ก่อนการเปิดเผยตัวเลขจ้างงาน

ขณะที่ตัวเลข CPI ในประเทศหลังกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าตัวเลขออกมาบ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค.65 เพิ่มขึ้น 5.98% เทียบปีก่อน ชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 6.15% จากปีก่อน คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) ยังมีแนวโน้มชะลอตัว พร้อมทั้งการติดตามการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ระดับ 1,600-1,650 จุด

ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ สัปดาห์ที่ 3 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม วันที่ 18-19 พ.ย. ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565 (APEC 2022), สัปดาห์ที่ 4 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, (ส.อ.ท.) แถลงยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ วันที่ 21 พ.ย. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 3/65 วันที่ 30 พ.ย. ประชุม กนง. ครั้งที่ 6 ส่วนต่างประเทศ วันที่ 7 พ.ย. จีน รายงานดุลการค้าเดือนต.ค. 8 พ.ย. อียู รายงานยอดค้าปลีกเดือนก.ย. วันที่ 9 พ.ย. จีน รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ต.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนต.ค. สหรัฐ รายงานสต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ก.ย. และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ วันที่ 10 พ.ย. สหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ต.ค.และวันที่ 11 พ.ย. สหรัฐ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ย.

ดังนั้น  แนะนำกลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเตรียมเสนอ มาตรการอุดหนุน EV เข้า ครม. เดือน พ.ย. นี้ โดยหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ หาก ครม.มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าว ได้แก่ EA, NEX, BYD และ GPSC


กำลังโหลดความคิดเห็น