หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์หรือโรงพยาบาลครึ่งปีหลังแผ่ว เหตุฐานปีก่อนสูง ขณะรายได้เกี่ยวกับโควิดปรับลดลง หลังถูกกำหนดให้เป็นโรคประจำ แถมมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อกระทบต้นทุนยาและอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจสต๊อกวัคซีน รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงจากโรงพยาบาลในประเทศ และการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว ขณะโบรกเกอร์ส่วนใหญ่มอง BDMS และ BH ยังไปได้สวยต่อเนื่อง
หลังจากรัฐประกาศ ยกเลิก พรก. ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโควิด-19 และยุบ ศบค. วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค.)มีมติให้ ยกเลิกพรก. ฉุกเฉินฯ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565 เนื่องจากสถานการณ์โรค ระบาดทั่วโลกดีขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศไทยลดลง ทั้งอัตราการครองเตียงและอัตราการเสียชีวิต ขณะที่ประชาชนและธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
ขณะที่การนำเข้ายารักษาและวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะยังไม่เปิดเสรี โรงพยาบาลเอกชนยังต้องซื้อผ่านหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งในปัจจุบันอนุญาตเพียง Moderna เท่านั้น จึงมองเห็นอุปสงค์ของวัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย โดยมีเพียง 44.3% ของ ประชากรเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ในขณะที่ 76.8% ได้รับวัคซีนครบโดส
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากหลายสำนักมองต่างมุม ขณะส่วนใหญ่ยังคงมองหุ้นโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เป็นหุ้นนำตลาดของกลุ่มแต่ยังเชื่อปัจจัยลบหลายด้านรุมเร้าฉุดผลประกอบการ
หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลต่ำกว่าตลาด เหตุรายได้โควิดลด
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) หรือ บล.หยวนต้าฯ ประเมินหุ้นกลุ่ม HEALTHCARE ด้วยคำแนะนำ "Underweight" เพราะคาดผลประกอบการในครึ่งหลังปี65 กลุ่ม รพ. เมื่อเทียบปีก่อนจะปรับลดลง จากฐานที่สูงปีก่อน ซึ่งปี 65 บล.หยวนต้าฯ ปรับลดประมาณการกำไรลงราว 4% โดยคาดกำไรปกติกลุ่ม รพ. ภายใต้ Coverage ของ บล.หยวนต้าฯ เพิ่มขึ้น 4% เทียบปีก่อน คาด BDMS หรือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) จะ Outperform กลุ่ม ผลบวกจากการเปิดประเทศ
อย่างไรก็ดี บล.หยวนต้าฯ คาดผลประกอบการในปี 66 จะปรับลดลง 9% เทียบปีก่อน เนื่องจากรายได้เกี่ยวกับโควิด-19 ของ รพ.จะปรับลดลง ซึ่ง บล.หยวนต้าฯ ปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม รพ.จาก “เท่ากับตลาด” เป็น “น้อยกว่าตลาด” ด้วยมองว่าผลประกอบการโดยรวมหุ้น กลุ่มโรงพยาบาลผ่านจุดพีกไปแล้ว โดยกำไรในครึ่งหลังปี65 จะเริ่มปรับลดลง เทียบปีก่อน และชะลอตัวต่อในปี 66 จากฐานสูง
สำหรับ กลยุทธ์การลงทุนกลุ่ม รพ. บล.หยวนต้าฯ แนะนำการลงทุนแบบ selective โดยเลือก (BDMS TP@ 31.00) เป็นTop pick ซึ่งมองว่าผลประกอบการปี 65 -66 จะ Outperform เนื่องจากรับผลบวกจากการเปิดประเทศ
โควิดจางรับผลสต๊อกวัคซีน ฉุดรายได้
บล.ทิสโก้มองถึงความคล้ายคลึงกันของการดำเนินงานหลักของ BCH หรือ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) , CHG หรือ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) และ THG หรือ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยที่รายได้โรงพยาบาลโดยรวมลดลงจากปีก่อนและไตรมาสก่อน จากการลดลงของผู้ป่วยโควิด ซึ่ง BCH ควรบันทึกการขาดทุนจากวัคซีนหมดอายุที่เหลืออยู่ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากผลกำไรแล้ว จึงเห็น downside 0.4 บาทต่อหุ้น จากคาดการณ์ของ บล.ทิสโก้ ปี 65 สำหรับ BCH ( ปี 66 ยังคงไม่ได้รับผลกระทบ) ในทางกลับกันวัคซีนโควิดของ CHG และ THG ทั้งหมดมีผู้ซื้อแล้วและรายได้จะถูกบันทึกในครึ่งหลังปี 2565
โดยคาด BCH จะขาดทุนจากการบันทึกขาดทุนวัคซีนหมดอายุ และคาดว่า BCH จะรายงานขาดทุน 3 ปีนี้ที่ (301 ล้านบาท) พลิกกลับจากกำไรไตรมาส 3 ปี 64 ที่ 2,896 ล้านบาท และกำไรไตรมาส 2 ที่ 1,144 ล้านบาท การขาดทุนเกิดขึ้นจากคาดการณ์ของ บล.ทิสโก้ว่า BCH จะรายงานผลขาดทุนก่อนหักภาษีจำนวน 1,210 ล้านบาทสำหรับวัคซีนที่ขายไม่ออกทั้งหมด หากไม่ได้ถูกบันทึกในไตรมาส 3 ก็น่าจะเป็นในไตรมาส 4 ปี 65 หากไม่รวมการขาดทุนวัคซีนดังกล่าว คาดว่า BCH จะรายงานกำไร 644 ล้านบาท ลดลง 78% เทียบปีก่อน และ 44% จากไตรมาสก่อน ขณะที่คาดว่ารายรับรวมจะลดลง 57% เทียบปีก่อน และ 38% จากไตรมาสก่อน จากรายได้ที่ลดลงจากบริการที่เกี่ยวข้องกับโควิดที่จ่ายโดย NHSO, SSO และผู้ป่วยเงินสดอัตรากำไร EBITDA โดยรวมในไตรมาส 3 ปีนี้ คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติที่ 32.4%
ในส่วนของ CHG กำไรสุทธิลดลงเมื่อโควิดจางหายไป และรับการรักษาผู้ป่วย non-Covid คาดว่า CHG จะรายงานกำไรงวดนี้ที่ 500 ล้านบาท ลดลง 68% จากปีก่อนและ 43% จากไตรมาสก่อน และคาดว่ารายได้จะลดลง 44% จากปีก่อนหรือ12% จากไตรมาสก่อน ซึ่ง CHG คาดว่าจะเห็นการลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ BCH เนื่องจาก CHG ให้บริการสัดส่วนของผู้ป่วยโควิดที่น้อยกว่า และการดำเนินงานส่วนอื่น คาดว่ารายได้ของผู้ป่วย A-Class สำหรับ IPD และ OPD รวมถึงรายได้ SSO จะเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นของผู้ป่วยชาวไทย และจำนวนผู้ป่วยจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดย EBITDA Margin ลดลง 30.3%
ขณะที่ THG ยอดขาย Jin แข็งแกร่ง บวกการรับรู้รายได้จากการขายวัคซีน คาดว่า THG จะรายงานกำไรไตรมาส 3 ที่ 249 พันล้านบาท ลดลง 70% เทียบปีก่อน และ 37% จากไตรมาสก่อน ดังนั้น คาดว่ากลุ่มโรงพยาบาลจะขายวัคซีนได้ 600 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของวัคซีนโควิดที่ยังไม่ถูกใช้ หากไม่รวมการขายวัคซีนรายได้คาดว่าจะลดลง 47% จากปีก่อน และ 16% จากไตรมาสก่อน จึงคาดว่า Jin Wellbeing จำนวน 30 ยูนิต จะขายได้ใน 3 ไตรมาสลดลงเล็กน้อยจากยอดขายของ 2 ไตรมาสที่ 32 ยูนิต แต่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับยุคโควิดและ THG คาดว่าจะบันทึกกำไร 60 ล้านบาท จากการขายที่ดิน 200 ล้านบาท และสุดท้ายอัตรา EBITDA น่าจะถูกบีบลงจากไตรมาสก่อน จากการขายวัคซีนที่มีอัตรากำไรต่ำ
ทั้งนี้ บล.ทิสโก้ ประเมินมูลค่าโรงพยาบาลภายใต้การวิเคราะห์โดยใช้ประมาณการปี66 EV/EBITDA ความเสี่ยงที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวเร็วเกินคาดในผู้ป่วยต่างประเทศ และผลประโยชน์ทางการตลาดที่สูงกว่าที่คาดจากผู้ป่วยชาวไทย ความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญคือการชะลอตัวของผู้ป่วยต่างประเทศ อัตรากำไร EBITDA อ่อนแอกว่าคาดจากต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรที่เกิดขึ้น การแข่งขันรุนแรงระหว่างโรงพยาบาลในประเทศและการบริโภคในประเทศชะลอตัว จึงแนะนำ BDMS สำหรับกลุ่ม Healthcare ให้ “ซื้อ ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 35.00 บาท
รอความชัดเจนเบิกจ่าย “ ประกันสังคม”
บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มอง หุ้น HEALTHCARE SECTOR แนะนำ "NEUTRALหรือเทียบเท่าตลาด" หลังจากโควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวังตั้งแต่ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ 30 กันยายน 65 ประเทศไทยจะยกเลิก พรก. ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และยกเลิกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ( ศบค. ) หลังจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 รวมถึงการอนุมัติยาและวัคซีน ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวจะได้รับการรักษาฟรี เฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิ์สวัสดิการ (รัฐบาลจะไม่ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจ, HI, hospitel, การรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม) ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดงจะยังได้สิทธิ์ตาม UCEP Covid Plus ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาโควิดตามแบบเดิมหรือไม่
ขณะการนำเข้ายารักษาและวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะยังไม่เปิดเสรี โรงพยาบาล เอกชนยังต้องซื้อผ่านหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันอนุญาตเพียง Moderna เท่านั้น จึงเห็นอุปสงค์ของวัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย โดยมีเพียง 44.3% ของ ประชากรเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ขณะ 76.8% ได้รับวัคซีนครบโดสอีกทั้ง UCEP COVID ได้ยกเลิกไปแล้ว เหลือเพียง UCEP COVID Plus สำหรับผู้ป่วย กลุ่มสีเหลืองและแดงเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวจะได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกฟรีเฉพาะที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์สวัสดิการ (รัฐบาลจะไม่ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจ, HI, hospitel, การรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม) คาดในอนาคต UCEP Covid Plus ก็จะถูกยกเลิกเช่นกัน ซึ่งหมายถึง โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำฤดูอีกโรคหนึ่ง ดังนั้น ต้องจับตาดูเงื่อนไขการเบิกจ่ายการรักษาโควิดของสำนักงานประกันสังคม
โดย BCH หรือ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)และ CHG หรือ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นกลุ่มที่เสียประโยชน์มากที่สุด ขณะที่ BDMS และ BH หรือ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)จะกระทบน้อยที่สุด และยังเป็นหุ้นที่ บล.กรุงศรี ชอบ
ทั้งนี้ ต้องจับตาดูเงื่อนไขการเบิกจ่ายการรักษาโควิดของสำนักงานประกันสังคม เพราะคาดรายได้จากโควิดจะลดลงใน ไตรมาส 3 และ 4 ปี 65 โดย BCH และ CHG ซึ่งมี สัดส่วนรายได้จากโควิดสูงถึง 60% และ 49% ในครึ่งแรก ปี 65 ตามลำดับ จะเสียประโยชน์มากที่สุด ขณะที่ BDMS และ BH ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากโควิดเพียง 17% และ10% ตามลำดับจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า จึงยังคงคำแนะนำซื้อ BDMS และ BH และแนะนำถือ BCH และ CHG
เปิดประเทศหนุน medical tourism ฟื้น ?
บล.ดาโอ ประเมินหุ้น กลุ่ม Healthcare services แนะนำ "Overweight" หรือ “มากกว่าตลาด” เนื่องจาก มาตรการเปิดประเทศส่งเสริมให้ medical tourism ฟื้นตัวขึ้น จาก pent-up demand ช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลาง และ CLMV ที่เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและผู้ป่วยทั่วไปในประเทศฟื้นตัว จากเคสผ่าตัด และได้ปัจจัยหนุนจากฤดูกาลหน้าฝน ซึ่งช่วยชดเชยรายได้ที่เกี่ยวกับโควิดที่ลดลงเบื้องต้น ประเมินผลประกอบการกลุ่มในไตรมาส 3 ปี 65 ชะลอตัวทั้ง เทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน จากผลประกอบการกลุ่ม รพ. ที่เคยได้อานิสงส์จากโควิด-19 ชะลอตัวหลังรัฐปรับมาตรการการชดเชยค่ารักษา, ยกเลิกHospitel และ Home Isolation ด้านผลประกอบการของ รพ. ที่มีสัดส่วนรายได้ผู้ป่วยต่างชาติสูง อาทิ BH, BDMS, PR9 ยังคงเห็นการเติบโตต่อเนื่องทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน จากผู้ป่วยต่างชาติที่ขยายตัว และ GPM ที่เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งมี GPM สูงเพิ่มขึ้น
โดย บล.ดาโอ คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัว 138% เทียบไตรมาสก่อน หลังการยกเลิก Thailand Pass จะเห็นได้ว่าในเดือน ก.ค.65 นักท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้น 47% เทียบเดือนต่อเดือน สำหรับ รพ. ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ BH (ซื้อ/เป้า 245.00 บาท), BDMS (ซื้อ/เป้า 35.50 บาท) และ PR9 (ซื้อ/เป้า 19.00 บาท) เพราะมีสัดส่วนของรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติมาก และหลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้นมาก จึงมีโอกาสที่รายได้ส่วนนี้ฟื้นตัวดี และไตรมาส 3 เป็น high season ของกลุ่มนี้ราคาหุ้นในกลุ่ม รพ.Outperform และผลประกอบการในไตรมาส 2 ออกมาดีกว่าที่คาด โดยในกลุ่ม รพ. บล.ดาโอ เลือก BH เป็น top pick จาก BH จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด เพราะมีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติสูงที่67% ขณะปัจจุบันมีรายได้ต่างชาติอยู่ที่ 62% และ valuation ไม่แพง ปัจจุบัน BH เทรดอยู่ที่ 65 PER 39.7x เทียบเท่า -0.5SD below 5-yr avg PER เทียบกับการเติบโตของกำไรปี65-66 ที่ 220% และ 11% ตามลำดับ และยังมี upside จากคนไข้ซาอุดิอาระเบียและจีน
ขณะที่ Medical tourism เติบโตต่อเนื่อง รพ.ที่มีสัดส่วนต่างชาติยังคงน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก pent-up demand ยังอยู่ในระดับสูง จากผลกระทบของโควิด และมาตรการปิดประเทศ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางมารักษาได้ทำให้มีจำนวนผู้ที่อยากเดินทางมารักษาที่ประเทศไทยมีจำนวนมาก เนื่องจากสวัสดิการที่ดีและเหมาะสมกับราคา จึงทำให้ รพ. เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลาง และ CLMV จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ก.ค.65 จากตะวันออกกลางและ CLMV อยู่ที่ 66,252 คน และ 188,114 คน ซึ่งเทียบกับก่อนโควิดทำให้เห็นว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติ
ด้าน Pent-up demand ในประเทศยังอยู่ในระดับสูง นอกเหนือจากรายได้ผู้ป่วยต่างชาติที่ฟื้นตัวดีขึ้นและผู้ป่วยในประเทศฟื้นตัวเช่นกัน จากความอัดอั้นในช่วงโควิดที่ผ่านมา จึงทำให้เคสผ่าตัดบางส่วนถูกเลื่อนออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดของภาครัฐ อีกทั้งคนส่วนมากเลี่ยงการเข้า รพ.เพราะมองว่าเป็นแหล่งรวมเชื้อและสามารถติดเชื้อโควิดได้จึงไม่สามารถตรวจสุขภาพต่อเนื่อง ทำให้หลักจากสถานการณ์โควิดดีขึ้นแล้ว ดังนั้น การตรวจสุขภาพจึงเป็นความสำคัญลำดับต้นๆของผู้คนทั่วไปเพื่อไม่ให้ประวัติการตรวจสุขภาพขาดตอนนานจนเกินไป โดยส่วนมากจะพบว่าเกิดโรคหรือเข้าค่ายเสี่ยง ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง และไตรมาส 3 ยังถือเป็นช่วง high season ของธุรกิจ รพ. ที่ได้ผลประโยชน์ปัจจัยฤดูหน้าฝน จากสถิติตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกเดือนสิงหาคมพบ 16,276 ราย เสียชีวิต 14 ราย ซึ่งมากกว่าปี ที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันถึง 2.2 เท่า ปัจจัยดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นหนึ่งในแรงหนุนของรายได้กลุ่ม รพ.
จากข้อมูลข้างต้น พบว่าโบรกเกอร์มองต่างมุมในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่มองมุมลบ แต่บางสำนักยังเชื่อว่าโรงพยาบาลบางแห่งสดใส อย่างไรก็ดีคงต้องมาลุ้นผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ที่บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ เริ่มทยอยประกาศผลการดำเนินออกมาแล้ว เริ่มจากกลุ่มแบงก์พาณิชย์ที่ประกาศผลงานออกมากำไรสวยหรูแทบจะยกแผงนำโด่งด้วยแบงก์กรุงไทยจากมาตรการของรัฐหนุนทั้งเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง เพราะได้รับอานิสงส์บวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะผลประกอบการหุ้นกลุ่มอื่นและบริษัทที่เหลือจะทยอยแจ้งออกมาตามลำดับ ซึ่งจะสดใสหรือซึมลึกก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยของแต่ละกลุ่มธุรกิจของแต่ละบริษัท