กรมควบคุมโรคคาดสัปดาห์นี้อาจเจอ "โควิด" เพิ่มเล็กน้อย อยู่ในคาดการณ์ เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเด็กเล็ก 6 เดือน - 4 ปีมากขึ้น จับมือสมาคม รพ.เอกชน จัด 46 รพ.ร่วมฉีดวัคซีนฟรี เพิ่มความสะดวก "หมอเด็ก" ย้ำควรฉีด เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง อัตราตายสูง ผลข้างเคียงน้อย ควรฉีดป้องกันก่อนไปเที่ยวหน้าหนาว
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการให้บริการวัคซีนโควิด 19 เร่งรัดสร้างภูมิปฐมวัย ปกป้องภัยโควิด 19 ว่า สถานการณ์โควิด 19 ขณะนี้มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยรายสัปดาห์ประมาณ 2 พันกว่าราย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 2,616 ราย เฉลี่ยวันละ 373 ราย เสียชีวิต 40 ราย เฉลี่ยวันละ 5 วัน พบปอดอักเสบ 396 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 214 ราย สัปดาห์นี้อาจจะเพิ่มขึ้นบ้างแต่ไม่มากนัก อยู่ในการคาดการณ์และควบคุมอยู่ ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 รวม 143.5 ล้านโดส เข็มหนึ่ง 82.5% เข็มสอง 77.5% เข็มกระตุ้น 46.5% โดยปี 2564-2565 ช่วยป้องกันเสียชีวิตได้ 4.9 แสนราย ป้องกันป่วยหนักล้านกว่าคน ประสิทธิผล พ.ค. - ก.ค. 2565 พบว่า 4 เข็มป้องกันปอดอักเสบและเสียชีวิต 100% หากฉีด 3เข็มป้องกันเสียชีวิตลดมาเหลือ 93% และ 2 เข็มลดเหลือ 72%
สำหรับการฉีดวัคซีนเด็กเล็ก 6 เดือน - 4 ปี คิกออฟเมื่อวันที่ 12 ต.ค. เรากระจายวัคซีนทุกจังหวัดและกระจายหน่วยบริการ ฉีดไปจำนวนหนึ่งกำลังรอข้อมูล ยังไม่มีรายงานภาวะแทรกซ้อนทางระบบเลย อาการแทรกซ้อนรุนแรงไม่มีเลย เช่น เรื่องหัวใจ ขอให้ อสม.เป็นกลไกช่วยนำพาพ่อแม่ลูกหลานมารับวัคซีน ตั้งเป้า 2 ล้านโดส
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงระบาดโอมิครอน ม.ค. ถึงปลาย ก.ย. 2565 อัตราติดเชื้อในเด็กสูงในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปี กลุ่มนี้ไม่สามารถดูแลตนเองได้ดี ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ ผู้ปกครองต้องดูแล อัตราป่วยสูงกว่าเด็กโต 1.5 เท่า และป่วยเสียชีวิตที่สะท้อนความรุนแรงสูงกว่าเด็กโต 3 เท่า ในกลุ่มอายุ 5-9 ปี และ 10-14 ปี ซึ่งรับวัคซีนไปแล้ว ดังนั้น ความเสี่ยงอยู่ที่เด็กเล็ก แต่ก่อนยังไม่มีวัคซีน ตอนนี้เรามีแล้ว เป็นระยะเวลาสำคัญมากต้องสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกหลาน ข้อมูลล่าสุด 9 เดือนที่ผ่านมา เรามีเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปีเสียชีวิต 69 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 443 ราย หากรับการเสริมภูมิคุ้มกันก็มีโอกาสป้องกันการเสียชีวิต เพราะวัคซีนพิสูจน์แล้วว่าป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ไม่ต้องเข้าไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ หวังว่าวันนี้เป็นต้นไป หากมีลูกหลานอายุต่ำกว่า 5 ปี จะพามาฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ วัคซีนเด็กเล็กจะฉีด 3 เข็ม โดยเข็มแรกฉีดเมื่อไรก็ได้ ตอนนี้เราให้บริการตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เข็มสองห่างเข็มแรก 4 สัปดาห์หรือ 1 เดือน และเข็มสามห่างเข็มสองอีก 8 สัปดาห์หรือ 2 เดือน หากทุกคนรับการฉีดวัคซีนจะป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตอย่างดี ไม่มีการสูญเสีย กรมควบคุมโรคมีนโยบายให้เด็กเข้าถึงวัคซีนสะดวก โดยแจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.จัดสถานพยาบาลให้บริการ จะมีสถานพยาบาลให้บริการมากขึ้น การฉีดต้องอยู่ภายใต้การกำกับของแพทย์ โดย รพ.ทั่วไปมีคลินิกเด็กดี สามารถให้บริการได้เลย เพราะมีการใหวัคซีนชนิดอื่นอยู่แล้ว ขอให้ รพ.จัดจุดให้บริการเป็นลักษณะสัปดาห์การฉีดวัคซีนเพื่อเร่งรัดการรับวัคซีน
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยากุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการประชุมกุมารแพทย์ทั้งหมดรวมทั้งในเอเชียที่เกาหลีลงมติว่า เด็กเล็กควรฉีดวัคซีนโควิด ถามว่าทำไมต้องฉีด ทังที่เชื้ออ่อนลง มิสซีน้อยลง เพราะเด็กก็ป่วยหนักได้ ที่ผ่านมาการระบาดช่วงแรกเด็กเป็นไม่มาก ช่วงหลังอายุน้อยเป็นมากขึ้น และเข้ารพ.มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะพ่อแม่กังวล อายุต่ำกว่า 5 ขวบอัตราตายสูง ซึ่งวัคซีนฉีดแล้วไม่ใช่ว่าจะไม่เป็น แต่ทำให้อาการน้อย โอกาสตายน้อย ทั้งนี้ กลุ่มเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดคือ กลุ่มต่ำกว่า 1 ปี รวมถึงคลอดก่อนกำหนด , โรคอ้วน , โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคปอด หอบหืด , โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ,โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมทั้งกลุ่มดาวน์ บกพร่องทางระบบประสาท พัฒนาการช้า เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูง
ส่วนขนาดของวัคซีนน้อยกว่าผู้ใหญ่ 1 ใน 10 ผลข้างเคียงแทบไม่มีไข้เลย แต่เมื่อใช้ขนาดน้อยเลยต้องฉีด 3 เข็ม โดยอายุต่ำกว่า 1 ปีฉีดที่ต้นขาด้านนอก อายุมากกว่า 1 ปี ฉีดต้นแขน ถ้าฉีดแล้วติดเชื้อด้วยภูมิจะดีขึ้น ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเช็กก่อนว่าเคยเป็นหรือไม่ มาฉีดได้เลย แต่หากมีอาการไข้อาจยังไม่ควรฉีด แต่หากรู้ว่าเด็กติดเชื้อชัดเจน อาจเว้นไปก่อน 2 เดือน สำหรับกรณีนัดมาฉีดเข็มที่สองหรือสามแล้วไม่ว่างหรือลืม สามารถมาฉีดช้ากว่าที่นัดได้ เพราะฉีดช้าภูมิคุ้มกันดีกว่า แต่อย่านานไปเพราะต้องระวังว่าอาจติดเชื้อก่อน
ด้านนายเฉลิมกุล อภิบุณโยภาส กรรมการบริหารสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า สมาคม รพ.เอกชน มองเห็นประโยชน์ทำอย่างไรเด็กเข้าถึงง่ายขึ้นในการรับวัคซีน เราถาม รพ.เอกชนทั่วประเทศทั้งหมด มี รพ.ให้ความร่วมมือฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 6 เดือน - 4 ปี รวม 46 แห่ง แบ่งเป็น กทม. 27 แห่ง ปริมณฑล 9 แห่ง และนอกนั้นอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งไม่ได้ให้บริการเฉพาะลูกค้าประจำหรือคนไข้ รพ.เอกชน เรายินดีให้บริการเด็กกลุ่มนี้นอกเหนือคนไข้ รพ. โดย รพ.เข้าร่วมหรือภายหลัง ไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะวัคซีนได้รับสนับสนุนภาครัฐจะฉีดให้ฟรี
"ขอความร่วมมือผู้ปกครองนำเด็กไปรับบริการ ซึ่งแต่ละ รพ.อาจจะมีจำนวนการให้บริการแตกต่างกัน ขอให้โทรถามเพื่อลงการนัดหมาย จะไปได้วันไหน เวลาใด เนื่องจากวัคซีน 1 ไวอัลฉีดได้ 10 โดส ต้องบริหารจัดการ เพื่อผลประโยชน์วัคซีน หากไม่มีเบอร์ให้โทร 1422 กรมควบคุมโรคประสารข้อมูล ทั้งนี้ เราให้บริการ 7 วัน เพท่อเพิ่มความสะดวกจากภาครัฐ" นายเฉลิมกุลกล่าว
เมื่อถามว่า นัดแล้วฉีดอีกที่ได้หรือไหม นพ.โสภณกล่าวว่า อันดับแรกขอให้รับที่เดิม เพราะมีประวัติครบถ้วน ถ้าจำเป็นไม่สามารถไปได้ เช่น ย้ายจังหวัดหรือไปอยู่อีกที่หนึ่ง หากมี รพ.ใกล้เคียงให้บริการก็เข้ารับบริการได้ เพราะข้อมูลบันทึกในหมอพร้อมเรียกดูประวัติการฉีดวัคซีนได้ แต่อยากให้ไปที่เดิมจะได้บันทึกต่อเนื่อง
ถามว่ามีคนมองว่าคนในบ้านฉีดแล้ว หรือเคยติดแล้วมีภูมิคุ้มกันหมู่ เด็กไม่ต้องฉีด ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เด็กไม่ได้อยู่บ้านตลอดเวลา ผู้ใหญ่ก็เป็นซ้ำได้ ฉีดดีกว่าไม่ใช่ และไม่ใช่ว่าฉีดแล้วไม่เป็น แต่โอกาสเป็นน้อยลง โอกาสแทรกซ้อนก็น้อยไปอีก
ถามว่าเด็กเล็กต่างด้าวครอบคลุมหรือไม่ ไปฉีดเอกชนได้หรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า หลักการคือฉีดทุกคนบนแผนดินไทย เด็กต่างด้าวก็เช่นกัน ลูกคนต่างชาติมาทำงานในไทย หรือประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมา รพ.เอกชนก็ร่วมให้บริการฉีดให้ต่างชาติที่พำนักทำงานในไทยมาตลอด รวมทั้งแรงงานต่างด้าว ยังใช้หลักการเดิมสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน
ถามอีกว่า ช่วงหน้าหนาวถ้าไม่ฉีดวัคซีนแล้วพาเด็กไปเที่ยว โอกาสติดเชื้อเยอะขึ้นหรือไม่ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อากาศเย็นเชื้ออยู่นานขึ้น ต่างประเทศไข้หวัดใหญ่ก็ระบาดหน้าหนาว ดังนั้น การพาเด็กไปเที่ยว ตอนนี้คนใส่หน้ากากน้อยลง ยิ่งต่างประเทศไม่มีใครใส่เลย ถ้าจะไปเที่ยวควรให้เด็กฉีดก่อน โอกาสติดน้อยลง เพราะหากป่วยกลางทางลำบาก ต้องมารักษา แต่ถ้ารอฉีดครบ 3 เดือนคงไม่ได้ไป เราไม่ได้เข็มงวดขนาดนั้น อยากให้ฉีดตามเวลา ไม่มาตามนัดนิดหน่อยไม่เป็นไร ไม่อยากให้เลื่อนมากเพราะกลัวลืม
ทั้งนี้ รพ.เอกชนใน กทม. 27 แห่ง ได้แก่ รพ.กรุงเทพคริสเตียน, รพ.ซีจีเอช, รพ.ซีจีเอช สายไหม, รพ.นวเวช, รพ.เปาโลเกษตร, รพ.วิมุต, รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์, รพ.สมิติเวช ธนบุรี, รพ.หัวเฉียว, รพ.เกษมราษฎร์ รามคำแหง, รพ.ธนบุรี, รพ.บางปะกอก8, รพ.แพทย์ปัญญา, รพ.ศิครินทร์, รพ.สินแพทย์, รพ.บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์, รพ.เจ้าพระยา, รพ.ธนบุรี 2, รพ.บางไผ่, รพ.มงกุฏวัฒนะ, รพ.ศูนย์การแพทย์วิชัยยุทธ, รพ.สุขสวัสดิ์, รพ.บางปะกอก9 อินเตอร์เนชั่นแนล, รพ.นวมินทร์, รพ.บำรุงราษฎร์, รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม, และ รพ.อินเตอร์สุขุมวิท
ปริมณฑล 9 แห่ง โดย "จ.นนทบุรี" ได้แก่ รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์, รพ.เวิล์ดเมดิคอล, รพ.กรุงไทย "จ.ปทุมธานี" ได้แก่ รพ.การุญเวชปทุมธานี, รพ.ซีจีเอช ลำลูกกา, รพ.บางปะกอกรังสิต 2, รพ.ปทุมเวช และ รพ.สินแพทย์ ลำลูกกา "จ.สมุทรปราการ" คือ รพ.บางปะกอกสมุทรปราการ
ส่วนในจังหวัดอื่นๆ คือ รพ.เชียงใหม่เมดิคอลเซ็นเตอร์ , รพ.หริภุญชัย เมโมเรียล, รพ.หริภุญชัยราม จ.ลำพูน , รพ.บุรีรัมย์ราม, รพ.เกษมราษฎร์ สระบุรี , รพ.เกษมราษฎร์ฉะเชิงเทรา, รพ.จุฬารัตน์11 อินเตอร์, รพ.รวมแพทย์ฉะเชิงเทรา, รพ.สมิติเวช ชลบุรี และ รพ.ศรีระยอง