วันนี้ (2 พ.ย.) นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย 2023” ในงานสัมมนา Thailand 2023 : The Great Remakeเศรษฐกิจ ว่า ปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญความท้าทายมากขึ้น ซึ่งล่าสุดการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 2.7% ลดลงจากปี 2565 ที่คาดว่าจะโตได้ 3.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจหลักยังอยู่ในระดับสูง โดยสหรัฐฯ คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 8.1% ปีหน้า 3.5% ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวน เพราะประเทศเศรษฐกิจหลักจะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ดอกเบี้ยเร่งตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ทุกครั้ง และค่าเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาระหนี้ในหลายประเทศเร่งตัวสูงขึ้น เรื่องดอกเบี้ยจะเป็นตัวซ้ำเติม ซึ่งประเด็นทั้งหมดยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3% และปี 2566 อยู่ที่ 3.8% โดยแรงส่งหลักยังมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.5 ล้านคน และปีหน้าเพิ่มเป็น 21 ล้านคน ขณะที่ภาคการส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 8.2% ส่วนปีหน้าจะลดลงเหลือ 1.1% ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.3% หลังจากนี้จะทยอยลดลงต่อเนื่องจากเดือน ก.ย.2565 ส่วนปีหน้าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.6% เข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3%
“ในปีหน้าไทยถือเป็น 1 ใน 14 ประเทศจาก 70 กว่าประเทศที่อัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากต้นทุนพลังงานและอาหาร ทำให้ที่ผ่านมาอาจจะได้เห็นการส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคบ้าง ส่วนปีหน้าราคาสินค้าอาจจะยังอยู่ในระดับสูงอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าจะน้อยกว่าปีนี้อยู่พอสมควร”
นายเมธี กล่าวอีกว่า ภาวะการเงินของประเทศไทยยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย แม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 2 ครั้ง สู่ระดับ 1% ต่อปี แต่ยังถือว่าเป็นประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ระบบการเงินยังมีเสถียรภาพ โดยในแง่ของธนาคารพาณิชย์ ตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนเงินบาทมีการอ่อนค่าลงค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการอ่อนค่าที่สอดคล้องกับภูมิภาค ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศคิดเป็น 3 เท่าของหนี้ระยะสั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพสูง ส่วนเงินทุนไหลออกอาจจะมีบ้างในตลาดพันธบัตร ขณะที่ตลาดหุ้นนั้นยังเป็นการไหลเข้า ซึ่งโดยรวมตั้งแต่ต้นปี ทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรเงินทุนไหลเข้ายังเป็นบวกอยู่
“ตั้งแต่ต้นปีพบว่าเงินบาทอ่อนค่าแล้ว 12% ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับประเทศคู่ค้า 25 ประเทศ พบว่า อ่อนค่าลง 1.8% ซึ่งการอ่อนค่าดังกล่าวยังไม่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนต้องบอกว่า ไทยยังเป็นประเทศที่มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ดังนั้นหากการท่องเที่ยวยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเดือนละ 1 ล้านคน คงได้เห็นการเป็นบวกของดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งตรงนี้จะช่วยพยุงค่าเงินให้มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ยอมรับว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าระยะต่อไปค่าเงินดอลลาร์จะเป็นอย่างไร โดยยังต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 2-3 พ.ย.นี้ โดยตลาดยังคาดว่าเฟดจะขยับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75%” นายเมธี กล่าว
อย่างไรก็ดี ธปท. ได้มีการประเมินว่าหากเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% นั้น จะต้องเห็นภาพรวมนักท่องเที่ยวลดลงมากต่ำกว่า 19 ล้านคน ขณะที่มูลค่าการส่งออกจะต้องกลับมาติดลบอย่างน้อย 2% จากที่คาดการณ์ 1.1% การบริโภคเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% จะต้องลดลงมาเหลือ 1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะต้องขยับขึ้นไปสูงเกิน 5% ต้องมาจากระดับราคาน้ำมันดิบต้องปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 144 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ก็เป็นไปได้ยาก ถ้าไม่มีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยหากมีปัจจัยเหล่านี้จึงจะเพียงพอที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ประเด็นเหล่านี้มีความเป็นไปได้ แต่ก็น้อย
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อ smooth takeoff นั้น ธปท. ยังคงดำเนินนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยคงไม่รุนแรงเหมือนในหลายประเทศ แต่จะทำให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ มีการชั่งน้ำหนักกับหลายเป้าหมาย เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือน หนี้เอกชน ปัจัยเหล่านี้ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีในการปรับดอกเบี้ย
ขณะที่สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ มาตรการระยะสั้น เพราะจะมีผลเสียในระยะยาว จะทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วน นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น นโยบายที่ไม่สอดคล้องกัน ไปคนละทิศละทาง นโยบายประชานิยมที่อาจบิดเบือนการทำงานของระบบการเงินและสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า สิ่งที่เป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทย คือเรื่องอัตราดอกเบี้ย นวัตกรรม และความเหลื่อมล้ำ โดยในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯ ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปราบเงินเฟ้อ ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นการส่งผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวต่อภาคการส่งออกของไทยแล้ว โดยการส่งออกไทยในปัจจุบันลดลงมาครึ่งหนึ่งแล้วจากไตรมาส 1/2565 ขณะที่การนำเข้าไม่ได้ลดลงเลย แต่หากเอาเรื่องพลังงานออกไป จะพบว่าการนำเข้าหายไปกว่าครึ่งหนึ่ง ทั้งหมดสะท้อนว่าอนาคตการส่งออกของไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง การส่งออกในปีหน้าอาจจะโตช้าหรือไม่โตเลยก็เป็นไปได้
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่กำลังล้มละลายแบบศรีลังกา และไม่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงแบบลาว แต่ไทยต้อง remake เพราะเรากำลังจะถูกประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าไปได้เรื่อยๆ โดยรัฐบาลจะต้องสร้างสมดุลในประเด็นเหล่านี้ คือ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องสร้างทักษะที่ตลาดต้องการ ต้องสร้างนวัตกรรมแก้จน และต้องสร้างกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำมาหากิน