ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) มองเศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องแม้ว่าเศรษฐกิจอื่นในต่างประเทศจะเผชิญกับการชะลอตัว เนื่องจากประเทศไทยยังมีกันชนในส่วนของภาคการเงินต่างประเทศ (external finance) ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง รวมทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลการดำเนินงานโดยรวมของภาคธนาคารและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมน่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตอาจจะถูกจำกัดโดยต้นทุนพลังงานที่สูง
นายเจมส์ แมคคอร์แมค กรรมการผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับแรงต้านที่รุนแรงในช่วงที่เหลือของปีนี้ และแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 ยังคงมีความท้าทายต่อเนื่อง ฟิทช์คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปได้เริ่มเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ในช่วงปีนี้ ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อยในช่วงกลางปี 2566 จากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ยังคงปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศจีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และความเสี่ยงต่อเนื่องในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ หนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) คือ การแข็งค่าของเงิน ดอลลาร์สหรัฐ การระดมเงินทุนจากต่างประเทศที่ตึงตัวขึ้นส่งผลกระทบต่อประเทศขนาดเล็กและกลุ่มประเทศที่เพิ่งจะพัฒนา ขณะที่ประเทศไทยในฐานะผู้นำเข้าสุทธิของน้ำมัน ได้รับผลกระทบอย่างมากในด้านดุลการค้า รวมทั้งผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังคงอ่อนแอ และส่งผลให้ประเทศไทยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีภาคการเงินต่างประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเทียบกับอันดับเครดิตของประเทศ และยังเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในปีหน้า การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และฟิทช์ประมาณการว่าอัตราการเติบโตของเศษฐกิจ (GDP) ที่ 3.1% ในปี 2565 และ 4.2% ในปี 2566
น.ส.ทันย่า โกลด์ ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายจัดอันดับเครดิตธนาคาร ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคธนาคารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คาดว่าจะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่จะเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกน่าจะอยู่ในระดับต่ำในปีหน้า อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก น่าจะได้ประโยชน์จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงมีต่อเนื่อง หลังจากการสิ้นสุดลงของภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานหลายปีและเกณฑ์การผ่อนผันต่างๆ หมดอายุลง
ด้านรายได้ของภาคธนาคารไทยน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง (แม้ว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงอยู่) ฟิทช์คาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก หลังจากมาตรการผ่านปรนในช่วงโรคระบาดโควิดหมดอายุลง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นยังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์น่าจะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากคาดว่า นโยบายการเงินแบบหดตัวน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปสำหรับประเทศไทย อีกทั้งธนาคารไทยยังคงมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากการสะสมสำรองหนี้สูญและเงินกองทุนไว้แล้วในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยเป็นจุดแข็งของอันดับเครดิต
นายโอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมที่ฟิทช์มีการจัดอันดับเครดิตในประเทศไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2566 โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่ ธุรกิจอาหารและค้าปลีก โทรคมนาคม และซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง จะมีกำไรในปี 2566 ที่เติบโตไปอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันและพลังงานที่อยู่ในระดับสูง สร้างแรงกดดันต่อการเติบโตของกำไรในธุรกิจปิโตรเคมีและสาธารณูปโภค เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาขายได้ทั้งหมด
บริษัทในภาคอุตสาหกรรมที่ฟิทช์มีการจัดอันดับเครดิตในประเทศไทย ได้แสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการกระแสเงินสดในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ได้เป็นอย่างดี จากการใช้เงินลงทุนอย่างระมัดระวัง และลดการจ่ายเงินปันผล อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการ โดยเฉพาะในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจไฟฟ้า เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของความต้องการใช้พลังงาน ตามแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทเหล่านี้อยู่ในระดับสูง และทำให้โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำ