โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
ปีนี้ ตลาดหุ้นไทย มีการปรับตัวลดลงมาไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ลดลงมาค่อนข้างมากจากความเสี่ยงเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอย วิกฤตพลังงานที่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้ง ธนาคารกลางในหลายประเทศ ซึ่งนำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ได้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
การที่ ตลาดหุ้นไทยสามารถ Outperform กว่าตลาดหุ้นอื่นได้ เป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางขยายตัวที่โดดเด่นกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศที่มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าที่คาด รวมถึงการที่นักลงทุนต่างชาติมีความสนใจหุ้นไทยและกลับมาซื้อหุ้นกว่า 160,000 ล้านบาท ประกอบกับนักวิเคราะห์มีการปรับประมาณกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้เพิ่มขึ้นในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ‘กลุ่มพลังงาน’ ที่ได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ‘กลุ่มโรงกลั่น’ ที่มีค่าการกลั่นอยู่ในระดับสูง ‘กลุ่มโรงพยาบาล’ จากการที่มีจำนวนผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มมากขึ้น และ ‘กลุ่มท่องเที่ยว’ ที่เห็นได้ว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาเที่ยวประเทศไทยได้มากขึ้น โดยในช่วง 8 เดือนแรกนั้น มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาได้กว่า 4 ล้านคน และประเมินว่าช่วงไตรมาส 4 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้นอีก หลังจากที่หลายประเทศเริ่มปลดล๊อกและผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อย่างเช่น ‘กลุ่มโรงแรม’ ได้รับผลบวกร่วมและมีการปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตลาดหุ้นอื่นๆ ที่ปีนี้ได้ปรับตัวลดลงมาอย่างมากนั้น ส่วนใหญ่เป็นตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป ที่มีสาเหตุมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน การคว่ำบาตร และมาตรการอื่นๆต่อรัสเซียจากประเทศต่างๆ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีการปรับตัวสูงขึ้นมาก ราคาน้ำมันเบรนท์ปรับขึ้นไปทำนิวไฮในรอบ 14 ปี อีกทั้งราคาก๊าซธรรมชาติได้มีการปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกส่งสัญญาณการปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า และจะคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อควบคุมให้เงินเฟ้อในอนาคตลดลงโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจมีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นอีกถึงที่ระดับ 4.50% - 4.75% ได้ภายในปีหน้าได้ โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้แตะระดับที่สูงกว่า 9.1% แล้ว นับว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น และกลายเป็นแรงกดดันที่อาจทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีโอกาสชะลอตัว รวมถึงมีความเสี่ยงในบางประเทศที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ นอกจากนี้ มาตรการการลดขนาดของสินทรัพย์ที่ถืออยู่ หรือ Quantitative Tightening ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อสภาพคล่องทางการเงินอีกด้วย ทางด้านฝั่งตลาดหุ้นเอเชีย ที่มีประเทศทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างประเทศจีน ยังคงมีนโยบายที่เข้มงวดในด้านการจัดการ Covid-19 จึงทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง
ด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยเอง ก็คาดว่าจะมีการปรับขึ้นเช่นเดียวกันกับธนาคารกลางอื่นๆ โดยประเมินว่าจะมีการปรับขึ้นต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพค่าเงินเช่นกัน หากแต่ ‘แนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในไตรมาสที่ 4 ที่แม้จะยังมีความผันผวนอยู่บ้าง จากการถูกกดดันด้วยปัจจัยต่างๆจากต่างประเทศ’ แต่ ปัจจัยภายในประเทศกลับเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มและโอกาสที่จะขยายตัวได้ดี จากการที่ไทยได้เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้จะเป็นตัวเร่งและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาช่วยเสริมการบริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ ยังมี ‘ปัจจัยที่ทุกคนต้องเฝ้าติดตาม’ ทั้งทิศทางการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อ การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก นโยบายของประเทศจีนเกี่ยวกับการควบคุมโควิดและการผ่อนคลายการท่องเที่ยวของจีน การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทิศทางการเมืองภายในประเทศ และปัจจัยอื่นๆ เพื่อดูทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้าและวางแผนการลงทุนให้ตอบโจทย์กันนะครับ