เฮเฟเล่ แบรนด์จากเยอรมนี ในประเทศไทย พลิกวิกฤตช่วงโควิดเป็นโอกาส เอกซเรย์องค์กร พร้อมปรับโครงสร้างภายในครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปี รวมฝ่ายขายผนึกฝ่ายมาร์เกตติ้ง ชูหัวหอกรุกตลาด หวังบูรณาการในการบริการกลุ่มลูกค้า ทั้งโครงการเอกชน-รัฐ และรายย่อย สร้างยอดขายให้เติบโตอย่างยั่งยืน เผยปี 65 มั่นใจสร้างสถิติปิดหีบการขายสูงถึง 4,300 ล้านบาท เติบโตถึง 12% ปัจจัยช่องทางการขายและสินค้ามีหลากหลาย ลูกค้าระดับกลางถึงบนไม่ถูกกระทบ ธุรกิจกลับมารันปกติ อสังหาฯ แห่เปิดบ้านแพง ยอดขายดี
น.ส.พรรณวรา เพ็งเจริญ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด (National Marketing Management Manager) บริษัท เฮเฟเล่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยหลังจากเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งใหม่ ภายหลังบริษัท เฮเฟเล่ฯ ได้มีการปรับองค์กรครั้งใหญ่เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ว่า เฮเฟเล่ ได้มีการปรับผังองค์กรครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปี เนื่องจากช่วงเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีในการปรับองค์กร พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เป็นการเอกซเรย์องค์กรเพื่อทำให้กระชับ โดยได้รวมหมวดผลิตภัณฑ์มารวมอยู่ในหมวดการตลาดทั้งหมด ส่งผลให้ฝ่ายการตลาดจะเพิ่มบทบาทและความรับผิดชอบที่ใหญ่กว้างขึ้น ทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์ การตลาด เทรดมาร์เกตติ้ง การดูแลลูกค้า
"ตนเข้ามาดูฝ่ายการตลาดในโครงสร้างใหม่ของบริษัทเป็นปีแรก เดิมรับผิดชอบฝ่ายผลิตภัณฑ์มา 4 ปี ซึ่งการปรับแผนครั้งนี้ พอเราเห็น Pain Point (ปัญหา) จากเดิมมาร์เกตติ้งจะแยกรับผิดชอบอยู่หลังบ้าน ขณะที่ฝ่ายขายจะเดินหน้าเรื่องขายสินค้า ในบางครั้งอาจทำให้การส่งผ่านบริการหรือขายผลิตภัณฑ์อาจไม่สอดรับและต่อเนื่องกัน ทำให้ลูกค้าหลุดไปได้ เราจึงผนวกแผนกผลิตภัณฑ์รวมกับฝ่ายการตลาด เพื่อให้มีความชัดเจนและเชื่อมถึงการทำตลาด การออกผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมโปรโมชัน ล้วนแต่จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความต้องการของทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งกลุ่มโครงการภาคเอกชนและโครงการภาครัฐ ตั้งแต่การออกแบบ การพัฒนาโครงการทั้งหมด และลูกค้ารายย่อย ส่งผลดีในการสร้างยอดขายที่เติบโตในทุกปี ซึ่งการปรับเปลี่ยนองค์กรต้องใช้เวลา แต่คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในการรุกตลาดและเชิงผลประกอบการที่สูงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566"
สำหรับผลประกอบการที่ดีขึ้นในปี 2565 นั้น น.ส.พรรณวรา แจงว่า เฉพาะภาพรวมยอดขายในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กันยายน) เติบโตเพิ่มขึ้น 16% สาเหตุหลักมาจากธุรกิจของเฮเฟเล่มีช่องทางการขายที่หลากหลาย โดยเฉพาะในช่องการขายแบบธุรกิจสู่กลุ่มผู้บริโภค (ร้านค้าและค้าปลีก) (Business-to-Customer : B2C) ช่วง 9 เดือนแรกยอดขายเติบโตถึง 16%
ส่วนยอดขายกลุ่มธุรกิจสู่เจ้าของธุรกิจ (ลูกค้าโครงการ ลูกค้าเชนสโตร์ หมวดโรงงาน) (Business-to-Business : B2B) ชะลอตัวตามภาวะโควิด มีช่องทางขายผ่านร้านค้ามากกว่าพันร้านค้า และการขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ ขณะที่มีสินค้ากว่าหลายหมื่น SKU (Stock Keeping Unit) และราคาของผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกความต้องการ ส่งผลให้ยอดขายปีนี้น่าจะปิดตัวเลขได้สูงถึง 4,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 450 ล้านบาท (ปี 2564 อยู่ที่ 3,850 ล้านบาท) หรือเติบโตจากปีที่64ประมาณ 12%
ปัจจุบัน ในกลุ่ม B2C มีสัดส่วน 52% ของยอดขายทั้งหมด ช่องทางขาย B2B มีสัดส่วน 41% และอื่นๆ มีสัดส่วน 7%
สำหรับสินค้าขายได้ดี ได้แก่ 1.กลุ่ม Hardware ( ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1) มีสัดส่วนต่อยอดขาย 37% 2.กลุ่ม Furniture Fitting (อุปกรณ์ที่นำมาประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ ) ประมาณ 27% 3.กลุ่ม Sanitary (ห้องน้ำและสุขภัณฑ์) ประมาณ 18% 4.กลุ่ม Home App (ห้องครัว) 13% และอื่นๆ สัดส่วนประมาณ 5% เช่น หมวดอีคอมเมิร์ซ์ และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าอัจฉริยะ
นอกจากนี้ ในส่วนของกลยุทธ์การขยายโครงการ (B2B) ทางเฮเฟเล่ได้มีการปรับผังฝ่ายลูกค้าในส่วนของโครงการภาครัฐด้วย โดยปรับเป็นทีมพิเศษขึ้นมา เข้าไปเจาะโครงการรัฐมากขึ้น วางเป้าใน 3 ปีข้างหน้ามีงานในโครงการภาครัฐมากขึ้น
น.ส.พรรณวรา กล่าวว่า เฮเฟเล่ได้จัดงาน “Häfele Big Clearance Sale 2022” ครั้งที่ 19 โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปี โดยการจัดงานในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ลูกค้าให้การตอบรับดี เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อ และเป็นการคืนกำไรให้ลูกค้า เฮเฟเล่จึงได้จัดงานนี้เพื่อให้ลูกค้าได้ชอปสินค้าอุปกรณ์ตกแต่งบ้านอีกครั้ง ที่เฮเฟเล่ ดีไซน์ สตูดิโอ สุขุมวิทย ซ.64 ระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคมนี้ ซึ่งนอกจากงานครั้งนี้ ยังคงความครบครันแบบ Complete Building Solutions ที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีจากเยอรมนีไว้แล้ว ยังได้นำเสนอนวัตกรรมอัจฉริยะแห่งอนาคต ที่มอบทั้งความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เพื่อเพิ่มคุณภาพการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น