xs
xsm
sm
md
lg

“คอรัลไลฟ์” บุกตลาดอาคารเขียวอาเซียน ชูเจ้าแรกได้มาตรฐานจากสถาบันชั้นนำเยอรมนี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คอรัลไลฟ์” รุกตลาดอาคารธุรกิจสีเขียวอาเซียน หลังเซ็นสัญญาสร้างอาคารสำนักงานในโรงแยกก๊าซที่ 7 ของ ปตท. หวังเป็นผู้นำด้านกรีน อิโคโนมี นวัตกรรมอาคารประหยัดพลังงานที่ได้รับรองมาตรฐานจากสถาบันชั้นนำจากเยอรมนี เจ้าแรกในภูมิภาค เผยธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดภายใน 5 ปี

นายซ้าง ซู ดง ซีอีโอบริษัท ไชน่า ปิโตรเลียม ไปป์ไลน์ ไทยแลนด์ หรือ CPP กล่าวว่า CPP เป็นบริษัทชั้นนำของโลกในเรื่องการแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซ เราสร้างท่อก๊าซมากว่า 100,000 กม.ทั่วโลก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องการสร้างโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 7 ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดและเน้นเรื่องการประหยัดพลังงานและความยั่งยืนในเรื่องแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซ ดังนั้น CPP จึงเชื่อมั่นใจว่าสามารถทำได้ โดย CPP ใช้ทีมวิศวกรออกแบบกว่า 100 คนที่สำนักงานเมืองเซินเจิ้นทำงานในโครงการนี้ ส่วนเรื่องอาคารประหยัดพลังงาน CPP ได้เลือกให้บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด เป็นผู้รับเหมางานทั้งหมดตั้งแต่ออกแบบทางสถาปัตยกรรม ออกแบบระบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน และก่อสร้างอาคาร เนื่องจากมั่นใจในความสามารถและคุณภาพของคอรัล ไลฟ์ และเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบัน Passive House ของประเทศเยอรมนีที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นมาตรฐานที่มีการประหยัดพลังงานสูงที่สุดและทำเรื่องคุณภาพอากาศภายในอาคาร

นายเทพฤทธิ์ ทิพย์ชัชวาลวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยใน 3 ปีแรก ได้ใช้เวลาและลงทุนไปกับการทำวิจัยและพัฒนา ได้มีการติดต่อพูดคุยและเข้าพบกับนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งเรื่อง Material Science และเรื่องอากาศ ได้ศึกษาเทคโนโลยีของญี่ปุ่นและยุโรป เข้าพบบริษัทผู้ผลิตต่างๆ มากกว่า 40 แห่ง จนในที่สุดได้เลือกทำงานร่วมกับสถาบัน Passive House ที่ประเทศเยอรมนี สถาบันอิสระที่ได้รับการยอมรับในเรื่องอาคารประหยัดพลังงานและคุณภาพอากาศภายใน และสร้างความร่วมมือกับอีก 5 บริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและเครื่องกรองอากาศที่เราได้เลือกสรรในต่างประเทศ คือ Saint-Gobain (ฝรั่งเศส) Zehnder (เยอรมนี) Schuco (สวิตเซอร์แลนด์) SIGA (สวิตเซอร์แลนด์) และ NorthGlass (จีน)

ต่อจากนั้นได้สร้างบ้านตัวอย่างเพื่อทดลองว่านวัตกรรมที่คิดค้นนั้นใช้ได้จริง โดยสร้างบ้านขนาด 200 ตร.ม. 2 ชั้น 3 ห้องนอน ตั้งอยู่บนถนนกรุงเทพกรีฑา ก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตามนวัตกรรมของคอรัลไลฟ์ และได้เปิดเครื่องปรับอากาศ เครื่องกรองอากาศตลอด 24 ชั่วโมง มาตลอด 3 ปีครึ่งจนถึงทุกวันนี้ได้มีการเก็บข้อมูลอุณหภูมิ และคุณภาพอากาศทั้งภายในและภายนอกบ้าน รวมทั้งการใช้ไฟฟ้า จนพบว่าค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าของบ้านหลังดังกล่าวอยู่ที่ 5,400 kwh ต่อปี ซึ่งคิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 2,000 บาทต่อเดือนสำหรับการปรับอากาศและกรองอากาศทุกห้องในบ้านตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ซึ่งหากเทียบกับบ้านขนาดเดียวกันทั่วไปจะมีค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,400 kwh ต่อปี ซึ่งคิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน จนเราแน่ใจว่านวัตกรรมของเราสามารถประหยัดพลังงานตั้งแต่ 70% ขึ้นไป อุณหภูมิและคุณภาพอากาศภายในอาคารถูกควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติที่ทำงานคู่กับข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่างๆ ให้เย็นสบายและสดชื่นตลอด 24 ชั่วโมง

“ในกรณีของอาคาร Administration building 2,460 sqm ในโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 7 นี้ เราสามารถลดจำนวนปริมาณ BTU ได้ 84% จาก 3,109,600 BTU หากเป็นการสร้างอาคารแบบ Conventional เหลือ 506,000 BTU การใช้พลังงานไฟฟ้าลดจาก 1,497,397 kwh/year เหลือ 379,008 kwh/year หรือลดลง 75% ถ้าคิดเป็นเงินประมาณ 4,700,000 บาทต่อปี นอกจากนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังสามารถสะสมคาร์บอนเครดิต 525.6 TON ต่อปี ถ้าคำนวณตามราคาซื้อขายที่ตลาดยุโรปจะได้ประมาณ 1,549,971 บาทต่อปี อาคารหลังนี้จะได้รับการรับรองมาตรฐานของ Passive House ของประเทศเยอรมนี” นายเทพฤทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น