SCB WEALTH กลับมาอีกครั้งในรูปแบบ SCB WEALTH HOLISTIC EXPERTS หลังจากโควิด-19 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นให้นักลงทุน นำทีมโดย SCB WEALTH ADVISORY TEAM ที่พร้อมจะดูแลต่อยอดความมั่งคั่งให้ลูกค้า Wealth ในประเทศไทย พร้อมเดินหน้ารุกกลุ่ม Digital Investor ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักลงทุนเป็น 1.3 ล้านรายในปี 67 จาก 6.2 แสนรายในปีนี้ ด้าน SCB CIO เน้น 5 กลยุทธ์จัดพอร์ตชนะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงตลาดผันผวน แนะทยอยสะสมตราสารหนี้คุณภาพดี กระจายความเสี่ยงสู่สินทรัพย์ Private asset, Structure note และหุ้นกลุ่ม ESG
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในภาวะไม่ปกติ มีความเสี่ยง ความผันผวนค่อนข้างสูง สภาพคล่องตึงตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาวะวิกฤตยังมีโอกาสเสมอ เราจึงเดินหน้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจไป โดยได้เป้าหมายเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) แตะ 2 ล้านล้านบาทใน 3 ปีจากสิ้นปีนี้ที่ 1.6 ล้านล้านบาท ไปพร้อมๆ กับความมั่งคั่งของลูกค้า ด้วยรากฐานที่มีความมั่นคงใน 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ทีมที่ปรึกษาทางการเงินที่ดี ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากนโยบายเปิด Open Architecture การมี Digital Platform ที่ดี โดยที่ผ่านมากลุ่ม Digital Investor เติบโตค่อนข้างสูง เราจึงมุ่งเน้นพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อรองรับ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่ม Digital Investor ที่ 6.2 แสนรายในปีนี้ เป็น 1.3 ล้านรายในปี 67 และการมีพันธมิตรที่ดี ฃที่จะตอบโจทย์นักลงทุนได้อย่างครอบคลุม
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment office and product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในครึ่งหลังของปี 65 เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ใน 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงยืดเยื้อจากราคาสินค้าที่ยังสูง รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและความความกังวลที่เศรษฐกิจจะถดถอย ซึ่งที่ผ่านมาเราจะได้เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่สูงถึง 0.75% ซึ่งคาดว่าจะขึ้นในระดับเดียวกันนี้อีก 2 ครั้ง และลงมาที่ 0.50% และ 0.25% ตามลำดับ
"ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นคาดว่าจะปรับขึ้นในปีนี้ เป็นการขึ้นแบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป และทรงตัวในปีหน้า ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยของไทยจะต้องดูถึงความสมดุลด้วยเนื่องจากไทยมีหนี้ครัวเรือนสูง หากขึ้นในอัตราที่แรงจะส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก และอีกประการหนึ่งคือการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อไทยโดยหลักเกิดจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ไม่ได้มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงงานเหมือนกับสหรัฐฯ ความเข้มข้นในการดำเนินนโยบายจึงต่างกัน"
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวมีผลอย่างนัยต่อการลงทุน โดยภาวะเงินเฟ้อสูงที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ จะส่งผลให้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2565-2566 และส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดการเงินโลก ผ่านการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร การลดลงของผลตอบแทนจากตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเน้นการเติบโตของรายได้สูงแต่ยังไม่มีกระแสเงินสดรองรับในระยะสั้น (long duration equities) นอกจากนั้นความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ยังจะทำให้ความผันผวนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีสูงขึ้นอีกด้วย
สำหรับกลยุทธ์การจัดพอร์ตเพื่อชนะเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเร็วและแรง รวมถึงตลาดการเงินโลกที่ยังผันผวน แนะนำ 5 กลยุทธ์ ดังนี้
1) สร้างกระแสเงินด้วยการทยอยสะสมตราสารหนี้คุณภาพสูง และเมื่อการขยับขึ้นของเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง การทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูง (Investment Grade) จะเป็นการสร้างกระแสรายได้ให้พอร์ตโฟลิโอได้
2) กระจายความเสี่ยงสู่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องจับจังหวะการลงทุนก็กำไรได้ โดยการลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Private assets จะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอและลดความผันผวนของพอร์ตได้ โดยนักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงด้วยการเลือกลงทุนใน Private equity, Private credit และ Private real estate เป็นต้น
3) ป้องกันความเสี่ยงด้านต่ำ (Limit downside risk) ด้วยหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง (Structure notes) โดยทาง SCB CIO มีทางเลือกหลากหลายในด้านผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น KIKO และ Equity-Linked Note
4) มองข้ามความผันผวนระยะสั้นด้วยการลงทุนแบบ Thematic ที่ถือในระยะยาวประมาณ 1 ปี ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมในกลุ่ม ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยเฉพาะธีม Renewable Energy & Decarbonization
และ 5) การนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Enhancing return) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การลงทุนที่ SCB CIO พร้อมนำเสนอเป็นทางเลือกให้นักลงทุน โดยการนำสินทรัพย์การลงทุนไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนที่มีอยู่แล้วมาเป็นหลักประกันในการทำ Lombard loan เพื่อนำไปลงทุนต่อยอดเสริมผลตอบแทนในระยะข้างหน้า