แรงกดดันตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งสูงเป็นตัวเร่งให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนของสหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลกฉุดดัชนีดิ่ง ขณะ “กูรู” พร้อมจับตา กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยครึ่งหลังปีนี้ และอาจเห็นการปรับปีนี้ 2 ครั้ง เพื่อกดเงินเฟ้อ เพราะยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่า 7% ต่อเนื่องในเดือนถัดๆ ไป เหตุสินค้ากลุ่มพลังงานพุ่ง และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังเปิดประเทศ
เมื่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับผลที่ออกมา แม้ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% แต่คะแนนเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะคณะกรรมการ 3 ใน 7 ราย สนับสนุนให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี หรือปรับขึ้นเป็น 0.75% เป็นการส่งสัญญาณว่า กนง.พร้อมผ่อนคันเร่ง ทว่าสิ่งที่ กนง. จะใช้พิจารณาเพื่อเป็นกรอบการปรับนโยบายการเงินในอนาคตจะชั่งน้ำหนักจาก 3 ประการคือ น้ำหนักระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกับการดูแลเงินเฟ้อ ตามด้วยการดูไทมิ่ง หรือระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปรับดอกเบี้ยที่ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และสุดท้ายผลกระทบจากเงินเฟ้อที่กระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ
กนง.อาจปรับดอกเบี้ยปีนี้ 2 ครั้ง
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า เงินเฟ้อไทยเร่งตัวขึ้นเช่นเดียวกับต่างประเทศ โดยเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา CPI เพิ่มขึ้นถึง 7.1% เทียบปีก่อน สูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นนั้นแสดงให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ยังติดๆ ขัดๆ และอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ล่าสุดเดือน เม.ย.2565 อยู่ที่ 10.04 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60.8% ต่อ GDP ซึ่งมีโอกาสใกล้เคียงกับเพดานที่ 70% ต่อ GDP ดังนั้น เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จึงถูกพูดถึง นั่นเพราะมติที่ออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ โดย 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ส่วนมติที่ออกมานั้นเป็นการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ว่ากันว่าจะเป็นขาขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่าปีนี้จะได้เห็น กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง เพื่อกดเงินเฟ้อ
วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากประชุม กนง. เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ได้ส่งสัญญาณว่าการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากมีความจำเป็นลดลง ซึ่ง กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% นับเป็นการเปลี่ยนท่าทีอย่างฉับพลันจากการประชุมครั้งก่อนหน้า (30 มีนาคม 2565) อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ มติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ดังกล่าวชี้ว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิมที่เคยคาดไว้ โดยสาเหตุที่เชื่อว่า กนง. มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเนื่องจาก กนง.ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโต 3.3% จากเดิมคาด 3.2% จากอุปสงค์ในประเทศ และแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด อีกทั้งความกังวลอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและนานกว่าคาด โดย กนง. ประเมินอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดทั้งปีนี้ ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น ล่าสุด กนง. ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นสูงเป็น 6.2% จากเดิมคาด 4.9% และสุดท้าย กนง. ระบุว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ชี้ถึงความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยที่อาจช้าเกินไปเมื่อเทียบกับแนวโน้มของเงินเฟ้อ
วิจัยกรุงศรี คาด กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในการประชุมวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ประเมินว่าจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งเหมือนประเทศอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยแม้จะมีแนวโน้มฟื้นตัว
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมสูงกว่า 7% และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่ความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการร่วงลงต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤษภาคมสูงสุดในรอบกว่า 13 ปีที่ 7.1% เทียบปีก่อน เร่งขึ้นจาก 4.65% จากราคาในกลุ่มพลังงานที่ปรับขึ้น รวมถึงราคาสินค้าในหมวดอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ตามการสูงขึ้นของต้นทุนการผลิต ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสด และพลังงาน) อยู่ที่ 2.28% เพิ่มขึ้นจาก 2.0% เดือนเมษายน สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 5.19% และ 1.72% ตามลำดับ
วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่า 7% ต่อเนื่องในเดือนถัดๆ ไป ซึ่งนอกจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนแล้ว ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานยังคงปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่มีการทยอยปรับขึ้น หลังจากสิ้นสุดการตรึงไว้ที่ 30 บาท/ลิตร จนใกล้แตะกรอบเพดานใหม่ที่ 35 บาท/ลิตร ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง รวมถึงยังมีแนวโน้มปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรในรอบต่อไปอีก (เดือนกันยายน-ธันวาคม)
นอกจากนี้ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ ขณะที่ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง วิจัยกรุงศรีคาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้มีแนวโน้มเฉลี่ยสูงขึ้นราว 6% จากเดิมคาด 4.8% อีกทั้งจากภาระค่าครองชีพและภาวะต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ฉุดให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมลดลงต่อเนื่อง
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) แสดงมุมมองถึงกรณีผลประชุม กนง. เสียงแตก มติ 4 ต่อ 3 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ว่า สาระสำคัญจากการประชุมครั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากแรงหนุนของอุปสงค์ในประเทศ และการท่องเที่ยวที่ฟื้นเร็ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าคาดและยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายมีความจำเป็นน้อยลง ขณะที่คาดการณ์ GDP ปีนี้ขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.3% จาก 3.2% เนื่องจากประการแรก การบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าและบริการล้วนขึ้น อีกทั้งนักท่องเที่ยวสูง ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2565 ปรับเพิ่มเป็น 6.2% จาก 4.9% ตามราคาพลังงานโลกและต้นทุนการผลิตที่ยังเร่งตัวขึ้น
อย่างไรก็ดี คาดว่าเงินเฟ้อจะถึงจุด Peak ในไตรมาส 3/65 ก่อนจะอ่อนตัวลงในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ จึงประเมินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. 3 ปัจจัย คือด้านเศรษฐกิจในประเทศ หากฟื้นตัวเร็วกว่าคาดอาจขึ้นดอกเบี้ยทันทีในการประชุมครั้งถัดไปคือวันที่ 10 ส.ค. และระยะเวลา อาจรอดูข้อมูลให้รอบด้าน โดยเฉพาะ GDP ไตรมาส 2 ของสภาพัฒน์ที่จะประกาศกลางเดือน ส.ค. ก่อน เพราะฉะนั้น การขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วคือ 28 ก.ย. และสุดท้ายคือผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจเพิ่มภาระให้ประชาชนบางกลุ่ม จึงยังคงมุมมองเดิมว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง สำหรับการประชุมรอบเดือน ก.ย. หรือ พ.ย.2565 เพื่อรักษาส่วนต่างไม่ให้กว้างเกินไป
ทั้งนี้ จากผลประชุม กนง. ครั้งล่าสุดให้ข้อมูลที่ชัดมากว่าจบรอบดอกเบี้ยขาลง แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามคือจังหวะเวลาที่เหมาะสม และความเป็นอิสระของ กนง. ในการขึ้นดอกเบี้ย ผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนที่สูง 90% ของ GDP ซึ่ง กนง. ประเมินแล้วว่าการขึ้นดอกเบี้ยทุก 1% คิดเป็นภาระ 0.5% ของรายได้ครัวเรือน น้อยกว่าการปล่อยให้เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงไปเรื่อยๆ ซึ่งกระทบ 3.6% ของรายได้ครัวเรือน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3/65 จะฟื้นเทียบปีก่อนจากฐานที่ต่ำ และไตรมาส 4/65 จะได้แรงหนุนจาก High Season ของภาคท่องเที่ยว
คาดเฟดปรับดอกเบี้ยสูง สกัดเงินเฟ้อ
ศูนยวิจัยกสิกรไทย คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) วันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ โดยเฟดจะยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นหลัก ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวในระดับสูงและมีแนวโน้มที่จะไม่ชะลอลงในระยะอันใกล้
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ค.65 พลิกกลับมาเร่งสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ระดับ 8.6% เทียบปีก่อน ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นนั้นออกมาเหนือความคาดหมายของตลาดที่มองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วและมีแนวโน้มที่จะชะลอลง ดังนั้น คาดว่าเฟดคงจะส่งสัญญาณว่าจะใช้นโยบายทางการเงินแบบแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ
โดยในการประชุม FOMC รอบเดือน มิ.ย.65 ที่จะถึงนี้รวมถึงในรอบเดือน ก.ค.65 เฟดคงจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% ตามที่ได้เคยส่งสัญญาณไว้ ขณะที่เฟดอาจส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% หลังการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า ซึ่งเฟดคงจะรอติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในแต่ละรอบการประชุม
ทั้งนี้ แม้ว่าเฟดจะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ไปสู่ soft landing แต่ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการเงินแบบแข็งกร้าวต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น แต่ความเป็นไปได้ในปีนี้ยังต่ำอยู่ เนื่องจากโดยภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยตลาดแรงงานมีแนวโน้มแข็งแกร่ง ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าอาจจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง และยังมองความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ท่ามกลางแรงส่งจากปัจจัยบวกต่างๆ ที่ลดลง ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูงจากประเด็นด้านเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัวอย่างต่อเนื่องของเฟดซึ่งจะไปกดดันการบริโภคที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ชะลอตัวลง อีกทั้งยังจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลกให้ปรับตัวลงอีกด้วย
หวั่นเงินเฟ้อพุ่ง ฉุดเศรษฐกิจซบ
กลุ่มงาน Economic Intelligence Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ มองภาวะเงินเฟ้อ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงถึง 5.9% เฉลี่ยทั้งปีนี้ (เดิม 4.9%) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี ท่ามกลางการทยอยลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพของภาครัฐ จะกดดันกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศรวมถึงชะลอการลงทุนในภาคธุรกิจลง โดย EIC วิเคราะห์ว่ารายได้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตช้าตามตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จะเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการรับมือกับค่าครองชีพที่เร่งตัวสูงในปีนี้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งมีจำนวนถึงกว่า 7 ล้านครัวเรือน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด ที่ปัญหาเงินเฟ้อสูงในปีนี้จะส่งผลซ้ำเติมทำให้สถานะทางการเงินถดถอยลง ทั้งจากสภาพคล่องที่ลดลงและหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากครัวเรือนบางส่วนที่ต้องกู้มาใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอ ถือเป็นความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทยที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ภาคธุรกิจจะประสบปัญหาจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งยังสามารถส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้จำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น (discretionary)
ขณะที่ คาดว่านโยบายการเงินของ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังเปิดประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพราคาและชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เริ่มปรับสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น (1 ปีข้างหน้า) ของครัวเรือนปรับมาอยู่ที่ 3.1% ในเดือนพฤษภาคม 2565 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย (อัตราดอกเบี้ยหลังหักเงินเฟ้อ)
ทั้งนี้ ในภาพรวม EIC ประเมินว่าแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมาจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการเพิ่มมากขึ้นแทนที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ตามการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค แต่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะยังมีแรงต้านจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็วและจะยืนอยู่ในระดับสูงตลอดช่วงปีนี้ท่ามกลางข้อจำกัดด้านมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้าๆ
น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลงลักษณะ Sideway Down โดยมีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงกว่าที่ตลาดคาดจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งขึ้น 8.6% เทียบปีก่อน สูงสุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3% และสูงกว่าระดับ 8.3% ในเดือน เม.ย. จึงคาดว่าจะเป็นตัวเร่งให้ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
อีกทั้ง ปธน.โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เตือนว่า ทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤตอาหารขั้นรุนแรง ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อมีโอกาสพุ่งขึ้นต่อจากปัจจุบัน และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงเกิดแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ขณะเดียวกัน มติ กนง.ที่ไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% สะท้อนว่ามีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะข้างหน้า
ขณะที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ครม.จัดเก็บ “ภาษีขายหุ้น” หรือ Financial Transaction Tax เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้ต่อไปเป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทย จึงคาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีจะอยู่ใกรอบ1,550-1,600 จุด แนะนำนักลงทุนระยะสั้นถือเงินสดรอดูผลการประชุม FED และจับตาต่อเนื่องคือการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ของแต่ละประเทศ