xs
xsm
sm
md
lg

EXIM BANK เปิดสำนักงานผู้แทนเวียดนาม รับนโยบายกระทรวงการคลังหนุนทุนไทยรุกตลาด BCG ใน CLMV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



EXIM BANK เปิดสำนักงานผู้แทนแห่งที่ 4 ในนครโฮจิมินห์ รับนโยบายกระทรวงการคลังหนุนทุนไทยรุกตลาด BCG ใน CLMV ตั้งเป้าวงเงินปี 2565 จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สนับสนุนการส่งออกสินค้าจากไทยไปเวียดนาม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ในนครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย น.ส.วีรกา มุทิตาภรณ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เข้าร่วมในพิธีเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในนครโฮจิมินห์ พร้อมด้วยกรรมการธนาคาร ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและเวียดนาม ลูกค้า ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงการส่งเสริมการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนก้าวพ้นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ควบคู่กับการเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ของโลกยุค Next Normal

นายอาคม กล่าวว่า ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เวียดนามเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มียุทธศาสตร์ชัดเจนในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบ และการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนโดยเฉพาะมาตรการทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สอดรับกับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามโดยการสนับสนุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่าง EXIM BANK ในการทำงานเชิงรุกเพื่อสนับสนุนทุนไทยให้เข้าไปสยายปีกในต่างประเทศมากขึ้น โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของ EXIM BANK พัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจ BCG ในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความท้าทายในโลกยุค Next Normal ยังมีโอกาสทางธุรกิจจำนวนมากอยู่รายล้อม โดย EXIM BANK พร้อมรับความเสี่ยงและเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านสินเชื่อและให้บริการประกันความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงทางการค้า และความเสี่ยงทางการเมือง ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่สู่อนาคต รวมถึง BCG และสนับสนุนทุนไทยไปต่างประเทศมากขึ้น โอกาสนี้ EXIM BANK จึงพร้อมเปิดดำเนินงานสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินห์อย่างเป็นทางการ เพื่อทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้ทีมประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมทีม EXIM BANK สู่บทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” ควบคู่กับการเป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs” ด้วยภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” เพื่อเป็นกลไกการพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของโลกยุค Next Normal

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของการจัดตั้งสำนักงานผู้แทน EXIM BANK โดย EXIM BANK ได้มีบทบาทสนับสนุนให้เกิดธุรกิจการค้าและการลงทุนของไทยในเวียดนามมาเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนในเวียดนามภายใต้การสนับสนุนของ EXIM BANK ในหลากหลายธุรกิจ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ปิโตรเคมี ห้างค้าส่งและค้าปลีก โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 EXIM BANK ได้ขยายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการในเวียดนามมากที่สุดในตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) โดยมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 13,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินเชื่อคงค้างใน CLMV และ New Frontiers ทั้งหมด 51,554 ล้านบาท ทั้งนี้ เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยในอาเซียน การส่งออกของไทยไปเวียดนามเน้นการตอบสนองความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเวียดนาม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่การลงทุนของไทยในเวียดนามกระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ เช่น พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป เกษตรและประมง ธนาคาร ก่อสร้าง ค้าส่ง ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร คลินิกเสริมความงาม ขนส่ง โลจิสติกส์ และธุรกิจโฆษณา โดยไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 8 ในเวียดนาม

ดร.รักษ์ กล่าวว่า โอกาสใหม่ๆ ของผู้ประกอบการไทยยังมีอยู่อีกมากในเวียดนาม เนื่องด้วยจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคนและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงเกือบ 7% ต่อปีโดยเฉลี่ย แม้ในวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมายังขยายตัวได้ที่ระดับเกือบ 3% ไทยและเวียดนามเป็นพันธมิตรทางการค้ามาช้านานและมีที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของ SMEs ไทยในการส่งออก โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มผู้บริโภคเวียดนามตามช่วงอายุ ซึ่งมีความต้องการที่หลากหลาย โดยผู้บริโภคชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้นเป็นลำดับ ประชากรวัยทำงานมีกำลังซื้อสูงขึ้นและชอบชอปปิ้งออนไลน์ ทำให้ตลาด E-Commerce โตถึง 35% ต่อปี ขณะเดียวกัน เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งไทย โดยมีนครโฮจิมินห์เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า บริการ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการคมนาคม เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและท่าเรือไซ่ง่อนซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเวียดนาม เศรษฐกิจของโฮจิมินห์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และขยายตัวสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของทั้งประเทศ

ในโอกาสนี้ EXIM BANK ได้ลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินกับธนาคารเพื่อการลงทุนและพัฒนาแห่งประเทศเวียดนาม (The Joint Stock Commercial Bank for Investment and Development of Vietnam : BIDV) จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ BIDV นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สนับสนุนการส่งออกสินค้าจากไทยไปเวียดนาม รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างโอกาสขยายการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนาม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ

“EXIM BANK เปิดสำนักงานผู้แทนครบ 4 แห่งใน CLMV สะท้อนถึงความสำคัญที่รัฐบาลไทยให้กับประเทศเพื่อนบ้านและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อจับมือก้าวผ่านความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกและสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคไปด้วยกันในมิติเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจที่ประสบปัญหา สร้างอุตสาหกรรมใหม่สู่อนาคตและนักรบเศรษฐกิจป้ายแดง เสริมอาวุธให้แก่ผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ รวมถึงผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายย่อย สานพลังการสร้างประเทศไทยและพันธมิตรให้มีภูมิคุ้มกัน เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว” ดร.รักษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น