นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด และประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต- สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน ในปี 64 ว่า บริษัทมีสินทรัพย์ก่อให้เกิดรายได้ (NEA) ที่ 22,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% มีจำนวนบัตรใหม่ที่ 52,000 ใบ ลดลง 32% มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 76,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% มียอดสินเชื่อบุคคลใหม่ 1,800 ล้านบาท ลดลง 4% มีฐานบัตรรวม 952,000 ใบ เพิ่มขึ้น 6% โดยมีส่วนแบ่งการตลาด ณ สิ้นปี 64 ที่ 4.6% จากสิ้นปี 63 ที่ 4.1%
โดยการเติบโตดังกล่าวถือว่าสูงอัตราเฉลี่ยของตลาดในทุกมิติ ยกเว้นยอดบัตรใหม่ เช่น ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตที่ 10% จากภาพรวมตลาดที่เติบโต 0% ยอดกดเงินสดเติบโต 7% จากภาพรวม -23% ขณะที่ไตรมาสแรกปี 65 บริษัทมี NEA ที่ 21,000 ล้านบาท เติบโต 4.4% ยอดบัตรเครดิตใหม่ 19,500 ใบ เพิ่มขึ้น 21% ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 21,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% และยอดสินเชื่อบุคคลใหม่ 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% และมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ประมาณ 2%
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปีนี้ ตั้งเป้าหมายมีบัตรเครดิตใหม่ 81,200 ใบ เพิ่มขึ้น 52% มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 88,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% มียอดสินเชื่อบุคคลใหม่ 1,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% สินทรัพย์ก่อให้เกิดรายได้ 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และมีมาร์เกตแชร์แตะระดับ 5.0% จากไตรมาสแรกที่ประมาณ 4.7%
"จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาที่ออกมาดีในเกือบทุกมิติทั้งที่อยู่ในสถานโควิด โดยหลักแล้วเนื่องมาจากฐานผู้ถือบัตรของเราเป็นกลุ่มรายได้สูงที่ได้รับผลกระทบจากโควิดน้อย การใช้จ่ายเริ่มกลับมาเร็วหลังผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม ซึ่งการใช้ต่างกับบัตรเครดิตแบรนด์แบงก์ที่การใช้จ่ายกลับมาค่อนข้างช้า แต่ไม่ใช่ทุกบัตรโค แบรนด์ที่จะกลับมาได้เร็ว ส่วนหนึ่งที่เรากลับมาเร็วเพราะมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างเครือเซ็นทรัล จึงเป็นที่มาของแนวคิดในปีนี้ที่จะปรับกลยุทธ์การสร้างความเติบโตทางธุรกิจผ่านเครือข่ายพันธมิตรของบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน และกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กรุ๊ป"
นายอธิศ กล่าวอีกว่า การปรับกลยุทธ์ครั้งนี้ จะเป็นการขยายและต่อยอดความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มให้มากขึ้นและลึกขึ้น โดยความร่วมมือดังกล่าวจะแบ่งเป็น 4 ด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านนวัตกรรมการชำระเงิน ซึ่งจะนำเทคโนโลยีด้าน Contactless OR Code Wallet Payments เข้ามาใช้ รวมถึงความร่วมมือด้านข้อมูล ซึ่งในส่วนของเซ็นทรัลเองมีฐานลูกค้าจำนวนมากถึง 18 ล้านราย ซึ่งรวมกับข้อมูลของเราแล้วจะเป็นฐานข้อมูลเชิงลึกขนาดใหญ่ที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี
นอกจากนี้ ยังสามารถร่วมกันเสริมสร้างระบบ Ecosystem ไปยังเครือข่ายของทั้ง 2 กลุ่ม และท้ายสุดการเชื่อมโยงไปสู่ความร่วมมือระหว่างเครือเซ็นทรัลกับเครือกรุงศรี ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด One Retail ของกลุ่มลูกค้ารายย่อยในเครือกรุงศรีอยู่แล้ว
พร้อมกันนั้น จะรุกลูกค้าในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างน้อยประมาณ 10-20% เท่านั้น ซึ่งบริษัทจะต้องมีการปรับภาพลักษณ์ของบัตรเพื่อให้มีความทันสมัย รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีการซื้อขายสินค้าออนไลน์เข้ามาตอบโจทย์มากขึ้น รวมถึงขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในเครือ เช่น CPN ที่เป็นศูนย์การค้าที่อาจจะได้รับความนิยมมากกว่าห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
"เราต้องยอมรับว่าฐานลูกค้าหลักที่มีอยู่อายุค่อนไปทาง 40-45 ปี ซึ่งแม้จะกำลังซื้อสูงและเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่เราต้องรักษาไว้ แต่ในอีกด้านหนึ่งเราต้องหากลุ่มลูกค้าที่เป็นนิวเจนเข้ามาเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนในอนาคต จะเป็นกลุ่มอายุประมาณ 30-35 ปี โดยการนำเทคโนโลยีซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มคนกลุ่มนี้ชื่นชอบเข้ามาช่วย แต่คงไม่สามารถผ่อนเกณฑ์อนุมัติด้านรายได้ขั้นต่ำได้ แต่จะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ อย่างเช่นการพิจารณาในกลุ่มคนทำงานอิสระ โดยตรงนี้น่าจะทำผ่าน RED CARD ที่กำหนดรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ส่วนบัตรพรีเมียมรายได้ขั้นต่ำประมาณ 1 แสนบาทขึ้นไปต่อเดือน"