xs
xsm
sm
md
lg

CIVIL ลุ้นปิดดีลเมกะโปรเจกต์ มูลค่า 5,000-10,000 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ซีวิลเอนจีเนียริง เผยทิศทาง Q2 ลุ้นผลประมูลเมกะโปรเจกต์ มูลค่ารวมกว่า 5,000-10,000 ล้านบาท ดัน Backlog แตะ 15,000-20,000 ล้านบาท ติดตามสถานการณ์พลังงาน-ค่าแรงพุ่ง มุ่งเน้นควบคุมต้นทุน พร้อมเริ่มดำเนินงานก่อสร้าง 7 โครงการ ที่ชนะการประกวดราคามูลค่ารวม 167 ล้านบาท เตรียมเจรจาพันธมิตรสร้างการเติบโตแบบ New S-Curve


นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำด้านวิศวกรรมโยธาที่ใช้เทคโนโลยีก่อสร้างแบบครบวงจรชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจช่วงไตรมาส 2/65 บริษัทมุ่งเน้นเข้าประมูลและรับงานขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและงานเอกชน โดยอยู่ระหว่างรอผลการประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ มูลค่ารวมกว่า 5,000-10,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ในระดับ 15,000-20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทยังคงติดตามปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น การขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่มีความผันผวน รวมถึงสถานการณ์การเงินเฟ้อและค่าแรงงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์การบริหารงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสามารถการกำไรของบริษัทให้อยู่ในระดับดี

“ที่ผ่านมา ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างได้พบกับ ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’ และต้องบริหารงานด้วยความระมัดระวังกันอย่างมาก ทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งด้านแรงงานและการขนส่ง,ฃ สงครามรัสเซีย-ยูเครน อันเป็นสาเหตุหลักของการปรับตัวสูงขึ้นของราคาวัสดุและพลังงาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1/65 บริษัทได้ชนะการประกวดราคาและเข้าดำเนินการก่อสร้างจำนวน 7 โครงการ มูลค่ารวม 167 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ บริษัทวางแผนบริหารจัดการต้นทุนอย่างเต็มที่ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพดำเนินงานก่อสร้างให้เสร็จอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ เพื่อให้สามารถรับรู้รายได้ภายในกรอบระยะเวลาของสัญญาโครงการ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของบริษัท โดยเฉพาะงานโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่บริษัทมีความคืบหน้าในการก่อสร้างสูงกว่าผู้รับเหมารายอื่น และมีความคืบหน้ามากกว่าแผนที่ได้วางไว้” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงมุ่งมั่นสร้างรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเริ่มดำเนินการเหมืองหินที่อยู่ในจังหวัดสระบุรีในช่วงไตรมาส 2/65 ซึ่งบริษัทเป็นผู้ถือประทานบัตร ทำให้มีแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้างด้วยต้นทุนที่ต่ำลงเนื่องจากอยู่ใกล้กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ตลอดจนมีรายได้จากการจำหน่ายหินให้บุคคลภายนอกเข้ามาอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการเจรจากับพันธมิตรหลายรายที่จะช่วยสร้าง New S-Curve เพื่อผลักดันการเติบโตในอนาคตให้บริษัท

สำหรับผลประกอบการผลประกอบการไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้รวม 1,649.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,186.82 ล้านบาท จำนวน 462.60 ล้านบาท หรือ 38.98% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 40.31 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 69.15 ล้านบาท จำนวน 28.84 ล้านบาท หรือ 41.71% ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/64 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 17.82 ล้านบาท หรือ 79.24%


กำลังโหลดความคิดเห็น