คลังส่อเค้าเลื่อนเก็บภาษีขายหุ้น รอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ "อาคม" พร้อมหนุนข้อมูล ศก.ให้นายกฯ เยือนญี่ปุ่น 26-27 พ.ค.นี้ ยันเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว เงินเฟ้อไม่สูง ต้องหันมาใช้นโยบายฟื้นฟู
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้รับข้อร้องเรียนจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือเฟทโก้ที่ขอให้ชะลอแนวทางการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น หรือ Transaction Financial Tax ซึ่งกระทรวงการคลังรับฟังปัญหา โดยการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจำเป็นต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจที่เหมาะสม กล่าวคือ เศรษฐกิจจะต้องเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
“การจะนำภาษีดังกล่าวมาใช้จำเป็นต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจของเราค่อยๆ ฟื้นตัว โดยภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยยังทำได้ดี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 90% ในช่วงที่ผ่านมานั้น ในปีนี้หลังจากที่ประเทศคลายล็อกดาวน์ คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะเข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปีนี้ราว 7 ล้านคน”
ทั้งนี้ ภาษีดังกล่าวซึ่งเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะคิดในอัตรา 0.1% และเมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น ที่จัดเก็บในอัตรา 10% ของ 0.1% จะทำให้มีภาระภาษีรวม 0.11% ของยอดขาย
เขากล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้ทุกประเทศยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม กระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว
นายอาคม ยังกล่าวอีกว่า เขาเตรียมตัวที่จะร่วมเดินทางไปกับนายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่นายกฯ จะร่วมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Nikkei Forum เพื่อความร่วมมือในการรับมือ และก้าวข้ามผ่านความท้าทายร่วมกัน วันที่ 26-27 พ.ค.นี้ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
เขากล่าวว่า ตนในฐานะ รมว.คลัง จะสนับสนุนข้อมูลให้นายกรัฐมนตรี ในการอธิบายว่า ประเทศไทยดำเนินนโยบายเพื่อต่อสู้กับโควิดอย่างไร และในอนาคตนโยบายของเรามีความชัดเจนว่าจะมุ่งสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนนโยบาย BCG
เขากล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศทั่วโลกเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูง สำหรับประเทศไทย จากการรายงานของไอเอ็มเอฟเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานี้ ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับเงินเฟ้อที่สูงสุด แต่เราอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับเงินเฟ้อที่ต่ำสุด โดยต่ำกว่า 5%
เขากล่าวว่า การประคองภาวะเงินเฟ้อในประเทศนั้น ในระยะสั้นเป็นการช่วยเหลือเป็นการเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น การช่วยเหลือกลุ่มวินมอเตอรไซค์รับจ้างเป็นต้น ส่วนในระยะยาวนั้น มุ่งสู่การพัฒนาพลังงานทดแทน และ Clean Energy
สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตนั้น จะเป็นการนำ Digital มาใช้ ซึ่งภาครัฐได้นำเทคโนโลยีมาใช้กับภาคธุรกิจ เช่น การยื่นแบบภาษีประจำปีของกรมสรรพากร และในอนาคตจะส่งเสริม Start up ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
เขากล่าวอีกว่า ในช่วง 2 ปีที่โลกต้องเผชิญกับโควิดอย่างหนัก ทุกประเทศได้ใช้นโยบายการคลัง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยการกู้เงิน แต่เมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย โลกมองไปที่การใช้นโยบายการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนั้นแม้มีการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจที่สูง แต่ไม่ใช่ประเทศที่ใช้จ่ายสูงที่สุด
ขณะเดียวกัน สถาบันจัดอันดับเครดิตระหว่างประเทศหลายแห่งยังมองว่าฐานะการคลังของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ