อาปิโก ไฮเทค โกยรายได้งวดนี้ 6,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% และกำไรสุทธิก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 406 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รับผลดีธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ดีมานด์เพิ่ม ชู 3 ธุรกิจหลักฟื้นตัว อุตสาหกรรมยานยนต์เด่น-ออเดอร์โต ดันปริมาณการผลิตพุ่ง วางแผนเปิดศูนย์ตัวแทนจำหน่ายรถอีก 1 แห่ง เตรียมพร้อมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ EV รองรับเทรนด์ในอนาคต มั่นใจทั้งปี 65 รายได้โต 30%
นายเย็บ ซู ชวน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1/65 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 6,815 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 1,076 ล้านบาท หรือเติบโต 19% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 5,739 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 406 ล้านบาท หรือเติบโต 32% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำไว้ 308 ล้านบาท
โดยผลประกอบการไตรมาส 1/65 เติบโตดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการในระดับที่สูงและการคลี่คลายของปัญหาการขาดแคลนไมโครชิป ทำให้มีคำสั่งผลิต (Order) จากธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น ประกอบกับธุรกิจตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการรถยนต์ฟื้นตัวได้ดีตามอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ส่วนธุรกิจเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อ IoT ยังคงมีทิศทางที่ดี ซึ่งในปีนี้เริ่มมีออเดอร์เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ GPS และอุปกรณ์ติดตามเข้ามามากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าช่วงไตรมาส 2/65 มีช่วงสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาว ทำให้ไลน์การผลิตหยุดตามไปด้วย แต่โดยภาพรวมเชื่อว่าแนวโน้มการดำเนินงานไตรมาส 2/65 น่าจะเติบโตนิวไฮต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 หลังจากบริษัทคาดว่าจะมีออเดอร์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งอิงจากตัวเลขประเมินของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คาดการณ์การผลิตรถยนต์ของไทยโดยรวมที่ 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มียอดผลิต 1.68 ล้านคัน โดยแบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8 แสนคัน และผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน
ขณะที่ปัญหาขาดแคลนไมโครชิปทั่วโลก (Chip Shortage) สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มดีขึ้นแล้วตั้งแต่ในไตรมาส 1/65 และคาดว่าจะค่อยๆ ดีขึ้นจนกลับสู่ภาวะปกติได้ในปี 66
ด้านต้นทุนราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นมานั้น บริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวไปกับลูกค้าในประเทศไทย ซึ่งสัญญาเกือบทั้งหมดนั้นทางลูกค้าจะเป็นผู้รับความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ส่วนของประเทศโปรตุเกสนั้น บริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนจากราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ให้ลูกค้าได้ โดยใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนโดยเฉลี่ยเพื่อตกลงเรื่องรายละเอียดของต้นทุนส่วนที่เพิ่ม ทำให้บริษัทมีผลกระทบจากต้นทุนที่เกิดขึ้นจำกัด โดยยังสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ และคาดว่าราคาเหล็กจะกลับสู่ภาวะปกติหลังสงครามคลี่คลาย
ส่วนต้นทุนการขายและบริการเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของยอดขาย โดยกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 71 ล้านบาท หรือ 11% แต่อย่างไรก็ดี อัตรากำไรขั้นต้นต่อรายได้ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 11% โดยยังอยู่ภายในเป้าหมายอัตรากำไรชั้นต้นของบริษัทที่ 10-12% และสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ 10% สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้ปรับตัวดีขึ้น โดยลดลงจาก 7% เป็น 6% ในไตรมาส 1/65
ทั้งนี้ บริษัทวางแผนเปิดศูนย์ตัวแทนจำหน่ายรถในช่วงครึ่งปีหลังอีก 1 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมความพร้อมด้านทีมงาน สำหรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รองรับเทรนด์ในอนาคต หลังภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทจะมีปริมาณการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าได้อีกช่องทางหนึ่ง
สำหรับเป้าหมายรายได้ในปี 65 บริษัทมั่นใจว่ารายได้รวมเติบโตอยู่ที่ 30% ตามแผน เมื่อเทียบกับปี 64 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 20,967 ล้านบาท ภายใต้กลยุทธ์เสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานท่ามกลางวิกฤตต่างๆ และปรับตัวและแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งมองหาโอกาสในการเติบโตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน มุ่งเน้นเป้าหมายขึ้นแท่นเป็นบริษัทระดับสากล จากการมีฐานธุรกิจในหลากหลายประเทศทั่วโลก ควบคู่ไปกับสร้างความสัมพันธ์ของลูกค้ารับจ้างผลิต (OEM) และการมีชื่อเสียงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยปัจจุบันบริษัทมีตลาดในประเทศมาเลเซีย จีน ยุโรป โปรตุเกส และอินเดีย อีกทั้งจะเน้นการขยายธุรกิจ และสร้างการเติบโตให้มากขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลัก ส่วนในประเทศไทยมีทิศทางที่ดี และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก