คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอนุญาตให้คนต่างชาติลงทุนในไทยเดือน เม.ย. 65 จำนวน 20 ราย นำเงินเข้าลงทุน 418 ล้าน จ้างงานคนไทย 592 คน และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่าเดือน เม.ย. 2565 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฮ่องกง มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 418 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 592 คน และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนด้วย
สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีรายละเอียดและคุณสมบัติ และการใช้งานเครื่อง Machining Center สำหรับการผลิตชิ้นงานเครื่องจักรกลไฟฟ้า และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการควบคุมและการใช้งานไร้สายของระบบ Optime ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือและผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เช่น กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นผู้ให้บริการระบบฝากซื้อขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน บริการให้ใช้ช่วงสิทธิในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) ด้านการธนาคาร ด้านการเงิน และด้านการประกันภัย บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น บริการรับจ้างผลิตเฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในเดือน เม.ย. 2565 พบว่านักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในเดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 2,666 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 7 ราย ลงทุน 1,057 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 2 ราย ลงทุน 356 ล้านบาท และสิงคโปร์ 1 ราย ลงทุน 121 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น 1. บริการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพการทำงานของเครื่องจักรชนิดหมุน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) ด้วยระบบคลาวด์ (Cloud) และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor Technology) 2. บริการรับจ้างตัดเหล็กเคลือบเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระป๋องบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม และ 3. บริการรับจ้างผลิตเฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น