"ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้" กำไรสุทธิแตะ 105.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.6% จากงวดเดียวกันปีก่อน ผลจากยอดขายเพิ่ม และปรับขึ้นราคาสินค้าได้อีก 5-10% พร้อมประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น ขณะที่บริษัทลูกอินเดียโตแรง 91% เดินหน้ากำลังผลิตเต็มสปีด เล็งติดตั้งเครื่องจักรใหม่เพิ่มรับออเดอร์ล้นมือ หลังตุน backlog ไว้กว่า 800 ล้านบาท มั่นใจผลงานปีนี้โตทะลุ 10%
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 1/2565 งบการเงินรวมของบริษัทฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 105.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.6% จากงวดเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิเท่ากับ 57.3 ล้านบาท
ขณะที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 594 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากงวดเดียวกันปีก่อนมีรายได้รวมเท่ากับ 464 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายและบริการของปี 2565 เป็นเงิน 578.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุหลักที่ทำให้กำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากยอดขายที่สูงขึ้นทำให้มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น ประกอบกับทางบริษัทมีการจัดการที่ดีขึ้นทั้งการปรับขึ้นราคาสินค้า ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นจากฝ่ายผลิต และการสูญเสียจากการผลิตลดลง ตลอดจนบริษัทสามารถจัดหาตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออกสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนค่าระวางเรือที่เริ่มมีราคาลดลงทำให้ไม่มีอุปสรรคในการขนส่งสินค้า โดยในโซนเอเชียและตะวันออกกลางมีการเติบโตของยอดขายจาก 219.5 ล้านบาทเป็น 315.3 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ 5-10% เนื่องราคาวัตถุดิบทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถทำสัญญาซื้อวัตถุดิบ (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และสี) และสินค้าซื้อมาขายไปและตกลงราคาล่วงหน้าเป็นเวลา 6-12 เดือน รวมทั้งบริษัทลูกที่ประเทศอินเดียมียอดขายในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 อยู่ที่ 36 ล้านรูปี เพิ่มขึ้น 91.3%
"ในไตรมาส 1/2565 ภาพรวมของธุรกิจมีทิศทางที่ดีมาก เพราะมีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง และสามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ตามกำหนด นอกจากนี้ ค่าระวางเรือ หรือค่าเฟดปรับตัวลดลงเป็นผลดีให้บริษัท สำหรับแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 2/65 บริษัทฯประเมินว่ายังคงสามารถรักษาการเติบโตได้ดี เนื่องจากปัจจุบันออเดอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงเดินเครื่องเต็ม 24 ชั่วโมง โดยสำหรับกำลังผลิต หรือ Capacity ปัจจุบัน ในส่วนของไลน์ฉีด มีขีดความสามารถแตะที่ระดับ 80% ส่วนไลน์พ่นสียังคงมีความสามารถในการผลิตได้อย่างต่อเนือง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ ได้มีการสั่งเครื่องจักรในส่วนของไลน์พ่นสีเข้ามาใหม่ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะติดตั้งและเดินเครื่องจักรใหม่อีก เพื่อรองรับการผลิตสินค้าให้ทันกับออเดอร์ใหม่ที่มีเข้ามา" นายสมพล กล่าว
ขณะที่บริษัทฯ มีออเดอร์รอส่งมอบ (backlog) อยู่ที่ประมาณ 800 ล้าน โดยธุรกิจในอินเดียเริ่มมีทิศทางชัดเจนมากขึ้น ล่าสุดได้รับออเดอร์ผลิตชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหรือ EV เพิ่มขึ้น ดังนั้นทำให้มั่นใจว่าจะสนับสนุนให้ผลงานในปี 2565 จะมีการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ระดับ 10% และสามารถทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้เพื่อขยายธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เนื่องจากกระแสของ EV กำลังมาแรง ซึ่งอาจพิจารณาร่วมมือกันพันธมิตรต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีรองรับอยู่แล้ว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในสิ้นปีนี้