นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยว่า การลงทุนในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงฝุ่นตลบ เพราะตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงตามความกังวลเรื่องเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปีหน้า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกดดันหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock)
ด้านธนาคารกลางสำคัญทั่วโลกเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดขนาดงบดุล (QT) เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ล่าสุดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นในอัตรามากสุดนับตั้งแต่ปี 2543 เพราะมีแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีมาอยู่ในระดับ 8.5%
นอกจากนี้ ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่ทำให้หุ้นทั่วโลกจะปรับตัวลงต่อ โดยข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่า ณ สิ้นปี 2565 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะอยู่ที่ 2.75% และกลางปี 2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 3.3% ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเช่นนี้ ตามสถิติพบว่า ตลาดหุ้นมักตอบรับในเชิงลบอย่างเช่นในปี 2511 ปี 2516 ปี 2523 และ ปี 2527 ที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 2% ในช่วง 6 เดือน ทำให้ดัชนี S&P 500 เคลื่อนไหวในแดนลบตลอดช่วงการขึ้นดอกเบี้ย
นายณัฐกฤติ กล่าวว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลง ธนาคารทิสโก้มองว่า นักลงทุนไม่ควรถอดใจหรือชะลอการลงทุน เพราะนี่เป็นโอกาสสำคัญที่นักลงทุนจะเข้าทยอยสะสมหุ้นที่มีโอกาสเติบโตแต่ราคาปรับตัวลงมา อย่างกลุ่มธุรกิจเมกะเทรนด์ ซึ่งผลประกอบการมักจะไม่ผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ และยังมีโอกาสการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น กลุ่มเทคโนโลยีแห่งอนาคต ธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ เป็นต้น
โดยกลุ่มเทคโนโลยีแห่งอนาคตเป็นกลุ่มที่กำลังเติบโตไปกับการดำเนินชีวิตของคนที่พึ่งพาเทคโนโลยีที่สร้างความสะดวกสบายและภาคธุรกิจที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจ ซึ่งถ้ามองผ่านวิกฤตต่างๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2565) จะเห็นได้ว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสามารถให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นสูงถึง 18.56% ต่อปี (วัดจากดัชนี MSCI World Information Technology Index) และด้วยผลตอบแทนในระดับนี้จะทำให้เงินลงทุนมีโอกาสเติบโตเป็น 2 เท่าใน 4-5 ปีข้างหน้า โดยธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่แนะนำ ได้แก่ Metaverse, Cloud Computing และ Cyber Security โดยคาดว่าทั้ง 3 ธุรกิจมีโอกาสเติบโตเฉลี่ยสูงถึงราว 26% 15.7% และ 13.7% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ที่มา : PWC , Research and Markets)
สำหรับความกังวลเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกดดันหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock) โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีนั้น ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นมารับความกังวลเรื่องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวของ Fed ไปอยู่ที่ 3.2% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับใกล้ถึงจุดสูงสุดที่นักลงทุนคาดว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะไปสูงสุดอยู่ที่ 3.25% ทำให้แรงกดดันหุ้นกลุ่มเติบโตอาจไม่ได้มีมากไปกว่านี้
ด้านกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังเติบโตไปกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ของโลก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเติบโตตามไปด้วย และยังมีอำนาจต่อรองสูงในการกำหนดราคาของค่ารักษาด้วย เหตุนี้เองจึงทำให้ธุรกิจธุรกิจด้าน Health Care ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2565) ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นที่สูงถึง 13.85% ต่อปี โดยธุรกิจ Health Care ที่กำลังเติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าคือกลุ่มนวัตกรรมการแพทย์ ได้แก่ ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) และ ดิจิทัลเฮลธ์แคร์ (Digital Healthcare) ระบุว่าทั้ง 2 ธุรกิจมีโอกาสเติบโต 12.2% และ 27.7% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ที่มา : statista , Grand View Research)
"ข้อมูลจาก StartUp Health Insight พบว่า ในปี 2564 แม้เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงซบเซา แต่กลับพบว่าเป็นปีทองของเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยมีการทุ่มงบประมาณไปเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางแพทย์ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นกว่า 20 เท่าหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อีกทั้งในแง่ของการใช้จ่ายเพื่อเข้าถึงบริการด้านเฮลธ์แคร์ พบว่า ศูนย์บริการเมดิแคร์และเมดิเคด (Centers for Medicare & Medicaid Services) ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าสัดส่วนการใช้จ่ายทางด้านเฮลธ์แคร์ของสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 19.6% ของ GDP ไปจนถึงปี 2573 และคาดว่าในปี 2571 การใช้จ่ายทางด้านเฮลธ์แคร์จะมีมูลค่าสูงถึง 6.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นว่าแม้สถานการณ์รอบด้านจะเลวร้ายเพียงใดก็ไม่ได้ทำให้ความสำคัญของกลุ่มเฮลธ์แคร์ลดลง และคาดว่าในอนาคตกลุ่มเฮลธ์แคร์จะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งอีกด้วย" นายณัฐกฤติ กล่าว