ราคา Bitcoin ยังคงได้รับแรงกดดันจากนโยบายการเงินของ FED แม้ว่าราคายังไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่แต่ยังไม่สามารถกลับมาเป็นขาขึ้นได้ นักเทรดทั่วโลกคงกำลังมองหาปัจจัยที่จะผลักดันราคา Bitcoin ให้กลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
จากบทความเดือนที่แล้ว ผมได้เขียนถึง Narrative ขาขึ้นรอบใหม่ของ Bitcoin ไว้ว่าจะมาจากการยอมรับ Bitcoin ของธนาคารกลางต่างๆ แต่อาจจะดูว่าต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่กว่าจะเกิดขึ้น เพราะการเปลี่ยนความคิดของนักการเงินรุ่นเก่าอาจจะต้องใช้เวลาที่นาน
ส่วนจุดพลิกที่น่าจะทำให้ Bitcoin กลับมาเป็นขาขึ้นได้ในช่วงสั้นภายใน 1 ปีจากนี้ผมมองว่าจะต้องทำให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันหรือภาคเอกชนเป็นตัวผลักดันหลักไปก่อน โดยสิ่งที่จะทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้นำเงินเข้ามาในตลาดคริปโตฯ จะต้องอาศัยกฎระเบียบต่างๆ เข้ามาเกื้อหนุน
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมานักลงทุนสถาบันหรือเอกชนที่เข้ามาใน Bitcoin ต่างเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Pioneer ซึ่งมีน้อยคนนักที่กล้าเข้ามาในตลาดนี้ (คนอย่าง Elon Musk หรือ Michael Saylor คงมีไม่กี่คน) แต่ถ้ากฎระเบียบด้านคริปโตฯ มีความชัดเจนและออกไปในแนวทางสนับสนุนมากกว่าจำกัด เม็ดเงินจากระบบการเงินเก่าจะเข้ามาในตลาดคริปโตฯ เพิ่มเติมได้ไม่ยาก
ลำพังการหวังเม็ดเงินเดิมที่อยู่ในตลาดคริปโตฯ เดิมจะเข้ามาผลักดันตลาดน่าจะเป็นไปได้ยาก แม้จำนวนนักเทรดรายย่อยจะเพิ่มขึ้นแต่เม็ดเงินอาจไม่มากพอจะผลักดันตลาด นักลงทุนสถาบันจึงเป็นผู้เล่นใหม่ที่ต้องเข้ามาทำให้ตลาดคริปโตฯ ใหญ่ขึ้น
มูลค่าตลาดคริปโตฯ เคยขึ้นไปแตะจุดสุงสุด 3 ล้านล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้เป็นเพียงแค่หุ้นเทคโนโลยีมาร์เกตแคปใหญ่เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น เปรียบเสมือนกับตลาดนี้มีขนาดเพียงแค่สระว่ายน้ำ แต่ถ้านักลงทุนสถาบันที่เคยลงทุนในสินทรัพย์การเงินดั้งเดิมเข้ามาในตลาดใหม่นี้เพียงแค่เล็กน้อย จากสระว่ายน้ำก็มีโอกาสขยายเป็นทะเลสาบ หรือมหาสมุทรได้ไม่ยาก
แต่การที่จะทำให้นักลงทุนสถาบันดั้งเดิมกระโดดเข้ามาในตลาดนี้จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนเพราะเป็นเรื่องยากที่นักลงทุนกลุ่มนี้จะนำเงินของลูกค้าและผู้ถือหุ้นมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีการคุ้มครองดูแลทางกฎหมาย ถ้ามีกฎระเบียบและการคุ้มครองดูแล เม็ดเงินจากสินทรัพย์ดั้งเดิมมีโอกาสที่จะเข้ามาในคริปโตฯ ได้มากกว่านี้
การที่ Exchange ระดับโลกอย่าง Binance กำลังเข้าสู่การกำกับดูแลของหลายๆประเทศไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา ดูไบ บาเรนห์และล่าสุดฝรั่งเศส (รวมถึงไทย) เป็นการส่งสัญญาณว่าพวกเขาเล็งไปที่เม็ดเงินจากโลกการเงินดั้งเดิมที่จะเข้ามาทำให้ตลาดและฐานลูกค้าของพวกเขาเติบโตขึ้น
ถึงตอนนี้มี 2 ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคือ ก.ล.ต. สหรัฐฯ จะอนุมัติกองทุน Bitcoin ETF หรือไม่ ถ้าหากเกิดขึ้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของ Bitcoin เพราะเม็ดเงินจากตลาดหุ้นบางส่วนน่าจะไหลเข้ามาลงทุนใน Bitcoin โดยตรง รวมถึงการกำกับดูแล Stablecoins ที่หากมีความชัดเจนและไม่เข้มงวดมากเกินไป เม็ดเงินจากนักลงทุนทั่วโลกก็พร้อมจะเข้ามาในตลาดคริปโตฯ ได้อย่างสบายใจ
นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกคริปโตฯ ที่จะเปิดรับเม็ดเงินจากสินทรัพย์ดั้งเดิมเข้ามาทำให้ตลาดเติบโตขึ้น และไม่ได้เป็นการทำลายหลักการของการกระจายอำนาจ หรือ Decentralized แต่อย่างใด เพราะผู้กำกับดูแลเป็นเพียงผู้ควบคุมผู้ประกอบธุรกิจแต่ไม่ได้เข้ามากำกับดูแลคริปโตฯ โดยตรง
เมื่อภาคเอกชนต่างหันเข้ามาในโลกคริปโตฯ ขั้นตอนต่อไปก็คือการตัดสินใจของธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกแล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไปกับคริปโตฯ ซึ่งจะเป็นสตอรี่ที่ต้องติดตามกันต่อในระยะ 3 ปีข้างหน้าจากนี้
บทความโดย : นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth, เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย