ผลการเสวนาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ในหัวข้อ “การเงินยั่งยืน : การระดมทรัพยากรทางการเงิน เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19” วันที่ 7 เมษายน 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการเสวนาหัวข้อ “การเงินยั่งยืน : การระดมทรัพยากรทางการเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19” ที่จัดขึ้นในช่วงเดียวกับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting : AFMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM) ครั้งที่ 8 ที่มีราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ประจำปี 2565 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน และผู้แทนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และธนาคารโลก เข้าร่วม โดยในการเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจและแนวทางในการระดมทรัพยากรภายในประเทศ (Domestic Resource Mobilisation : DRM) ผ่านกลไกการเงินที่ยั่งยืนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยได้กล่าวถึงความสำคัญในการปฏิรูปด้านการคลัง โดยเฉพาะการปฏิรูปภาษีเพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้รัฐบาลใช้ดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19 โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการจัดเก็บภาษี ซึ่งไทยได้ผลักดันให้มีการศึกษาประเด็นดังกล่าวภายใต้กรอบ AFMM รวมถึงเห็นชอบแนวคิดของ ADB ในการจัดสัมมนาในหัวข้อการระดมทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงการดำเนินการของไทยในการส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) เช่น การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลจะได้ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีการออกผลิตภัณฑ์ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนเพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนี้ นาง Sri Mulyani Indrawati รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นาย Lawrence Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐสิงคโปร์ รวมถึงผู้แทนจาก AIIB และธนาคารโลก ได้กล่าวถึงความสำคัญของการปฏิรูปภาษีเพื่อเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงความสำคัญในการระดมทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเติมเต็มอุปสงค์ในการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการเงินที่ยั่งยืน ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการหารือในภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการระดมทรัพยากรภายในประเทศและด้านการเงินที่ยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ได้มีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้
1.การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank Deputies’ Meeting : AFCDM) ซึ่งมีนายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง ได้เป็นผู้แทนกระทรวงการคลังเข้าร่วมการประชุม โดยที่ประชุมได้รับทราบถึงความคืบหน้าและแผนการดำเนินงานของปี 2565-2566 ของแผนการรวมตัวทางการเงินการคลังอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN : RIA-Fin) ใน 6 ประเด็นหลัก ซึ่งได้แก่ (1) การเปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้าย (2) การพัฒนาตลาดทุน (3) การเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน (4) การรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (5) การเข้าถึงบริการทางการเงิน และ (6) ระบบการชำระเงินและธุรกรรมทางการเงิน โดยเน้นการดำเนินงานที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการพัฒนาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าด้านความร่วมมือด้านการเงินที่ยั่งยืนในอาเซียน (ASEAN Sustainable Finance Cooperation) โดยเฉพาะการจัดทำเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Taxonomy) ซึ่งจะได้นำเสนอต่อที่ประชุม AFMGM ในวันที่ 8 เมษายน 2565 ต่อไป ทั้งนี้ ผู้แทนกระทรวงการคลังได้แสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จของการดำเนินงานของคณะทำงานการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน (Working Committee on Financial Services Liberalisation : WC-FSL) ของอาเซียน และได้สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามในร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) ฉบับที่ 9 ในโอกาสแรกต่อไป
2.การประชุมระหว่างกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาและเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน ซึ่งมีนายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้แทนกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุม โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินการคลังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์เงินเฟ้อ เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนที่จะเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาและผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต รวมถึงแนวนโยบายด้านสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency) และแนวทางการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ ผู้แทนกระทรวงการคลังได้แสดงข้อคิดเห็นในประเด็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากรด้วย
การประชุมในวันที่ 7 เมษายน 2565 สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิกอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงหลังยุคโควิด-19 และให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเดินหน้าไปพร้อมๆ กับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การประชุมจะดำเนินต่อไปในวันที่ 8 เมษายน 2565 ซึ่งจะมีการนำเสนอความคืบหน้าในประเด็นต่างๆ ต่อการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors Special Session with International Financial Institutions) การประชุม AFMGM ครั้งที่ 8 และการประชุม AFMM ครั้งที่ 26 โดยจะมีการหารือในประเด็นสำคัญ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน การดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ.2025 และการติดตามความคืบหน้าของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน รวมถึงการพิจารณาให้การรับรองประเด็นสำคัญต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือทางด้านการเงินอาเซียนต่อไป
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร.0-2273-9020 ต่อ 3615